วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

ลดภาษีเงินได้จริงหรือ???

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 เป็นต้นมา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ปรับลดลงมาจาก 30% เหลือเพียง 23% และจะลดเหลือ 20% ในวันที่ 1 ม.ค. 56 เป็นต้นไป ตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เพื่อทดแทนให้ภาคเอกชน กับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาท เป็น 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 นี้ ตามนโยบายประชานิยมอีกข้อหนึ่งของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ยังไม่รู้ว่า ภาคเอกชนจะดีใจหรือเสียใจกับการยื่นหมูยื่นแมวในครั้งนี้ แต่ที่แน่ๆ ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น กลับเกิดความ “ลักลั่น” ขึ้นมากกว่าเดิม เมื่ออดีตมีรายได้ทั้งปีตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 10% มีเงินได้ 500,000 บาทขึ้นไป เสียภาษี  20% มีเงินได้ 1 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี 30% และมีเงินได้มากกว่า 4 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีอัตราสูงสุด  37% แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังเสียภาษีในอัตราต่ำสุด

ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นกำหนดไว้สูงสุด  30% เมื่อปรับลดลงมาเหลือ 20% จะทำให้ช่วง 3 ปีดังกล่าวนี้ รัฐต้องสูญเสียรายได้รวมถึง 150,000 ล้านบาท แต่กลับยังไม่พิจารณาปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด

กลับกลายเป็นว่า บุคคลธรรมดาต้องจ่ายภาษีแพงกว่า ส่งผลให้ “บุคคลธรรมดา” พยายามหาช่องทางเลี่ยงภาษีด้วยการ จัดตั้งเป็น “คณะบุคคล” เพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ถูกลง จนเกิดปัญหาคณะบุคคลผุดเป็นดอกเห็ด ในหมู่วิชาชีพที่มีรายได้สูง เช่น แพทย์ ดารา รับเหมาก่อสร้าง เป็นปัญหาลูกโซ่ให้กรมสรรพากรตามตรวจสอบเส้นทางการเงินให้วุ่นวายอยู่หลายปี จนล่าสุด “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง สั่งกรมสรรพากร “ปิดตาย” คณะบุคคลทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ต้องยอมรับว่า กรมสรรพากรได้เดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีสรรพากรทั้งระบบมาโดยตลอด หลังจากที่ไม่เคยปรับโครงสร้างภาษีมาเลยกว่า 20 ปีแล้ว ทั้งเรื่องของอัตราภาษี สิทธิการลดหย่อนทางภาษี การยกเว้นอัตราภาษี ระบบภาษีระหว่างประเทศ และระบบบัญชีทางภาษี ซึ่งต้องยอมรับว่า เรื่องภาษีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นการจะปรับตรงไหน ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงต้องค่อย ๆ ทำทีละเรื่องไป และมาในยุคที่รัฐบาลคลั่งออกแต่นโยบายประชานิยมนี้ คงต้องมาลุ้นกันว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพากรจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน ใครได้ ใครเสียผลประโยชน์บ้าง

“สาธิต รังคสิริ” อธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่า กรมฯ ได้ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเสนอให้ “ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย” รมช.คลัง พิจารณาว่าจะดำเนินการตามแนวทางที่เสนอหรือไม่ อย่างไร และจะนำเสนอให้พิจารณา  ทีละเรื่อง เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการอนุมัติ เพราะหากเสนอแก้ไขกฎหมายยกฉบับแล้วเกิดติดขัดมาตราใดมาตราหนึ่งขึ้นมา จะทำให้กฎหมายทั้งฉบับนั้นต้องตกไป ยิ่งจะทำให้เกิดความล่าช้ามากขึ้นไปอีก

เรื่องแรกสุดที่น่าจะได้เห็นเดือน เม.ย.นี้ ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือ เสนอให้ “แยกยื่น” ภาษีสำหรับสามีและภรรยา ซึ่งมีเพียง 20% ของผู้เสียภาษี เพื่อให้เกิดความคล่องตัว  ในการยื่นชำระภาษี จากเดิมกำหนดว่าเงินได้ของภรรยา ต้องนับรวมเป็นรายได้ของสามี และแยกยื่นได้เฉพาะที่เป็นเงินเดือนเท่านั้น ส่วนรายได้อื่นต้องนำมาคำนวณรวมกับสามี ทำให้สามีต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นตามฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายคนไม่จดทะเบียน หรือจดทะเบียนหย่าแต่ยังใช้ชีวิตร่วมกัน

ด้วยเหตุผลว่า ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ทั้งสามีและภรรยาต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทั้งคู่ต่างมีเงินได้เป็นของตนเอง วิธีคิดในเรื่องนี้ควรต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งการแยกยื่นฯนี้ จะทำให้รายได้หายไปปีละ 3,000 ล้านบาท แต่อนาคตเชื่อว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า

ต่อมาคือ การยกเลิก “คณะบุคคล” ตามที่ รมว.คลังสั่งการลงมา ซึ่งกรมฯ จะให้ผู้ที่ร่วมเป็นคณะบุคคลต่างๆ นำรายได้จากการดำเนินการต่างๆ ตามที่จัดตั้งคณะบุคคลมาคำนวณรวมกับรายได้ปกติ เพื่อยื่นชำระภาษีด้วย จากเดิมที่รายได้ของสมาชิกผู้ร่วมจดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคล ให้แยกยื่นเสียภาษีกับรายได้ปกติ เชื่อว่าจะมีผลทำให้กรมฯ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นแน่นอน

แต่การปรับลดเพดานอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้ จากเดิมที่ 10-37% นั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะใช้อัตราใหม่อย่างไรบ้าง แต่มีแนวคิดว่าจะปรับอัตราให้ถี่มากขึ้น โดยเริ่มที่ 5%, 10% 15% ไปจนถึง 40% ตามแนวคิดของขุนคลัง ที่ยึดนโยบายการบริหารเศรษฐกิจว่า จะต้องกระจายรายได้ หรือความมั่งคั่งออกไปให้มากที่สุด

ทั้งนี้ “กิตติรัตน์” ได้ให้นโยบายกรมสรรพากรไปว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพากรนั้น ให้ยึดหลักการกระจายรายได้ ซึ่งในส่วนของภาษีบุคคลธรรมดานั้น ให้ยึดหลักว่าผู้มีรายได้สูง ต้องจ่ายภาษีสูงตามไปด้วย ส่วนผู้มีรายได้น้อย ก็จ่ายภาษีน้อย แต่ทั้งนี้ไม่ได้เร่งรัดให้กรมสรรพากรต้องเร่งดำเนินการแต่อย่างใด เพราะการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อีกทั้งได้ทำมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด บางเรื่องรอมาตั้งนานแล้ว ทำไมจะรอต่อไปอีกหน่อยไม่ได้ และไม่รับปากว่าจะได้เห็นเรื่องนี้ภายในปีนี้หรือไม่

ขณะเดียวกันมั่นใจว่า การที่รัฐลดภาษีนิติบุคลให้นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความลักลั่นกับการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดา เพราะการลดภาษีนิติบุคคล เพื่อให้แข่งขันกับภาษีนิติบุคคลของประเทศคู่แข่งและประเทศคู่ค้าได้ ส่วนอัตราภาษีจะเป็นเท่าใดนั้น ยังระบุไม่ได้ แต่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อน ไม่ใช่ปะตรงโน้นที ปะตรงนี้ที

แต่สำหรับนโยบายของ “ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย” รมช.คลังนั้น ดูจะออกแนวประชานิยม ทำเพื่อหวัง “คะแนนเสียง” จากชนชั้นกลางเป็นหลักมากกว่า เพราะได้ให้กรมสรรพากรพิจารณา เพิ่มวงเงินในการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ที่ปัจจุบันให้ลดหย่อนอยู่คนละ  60,000 บาท ให้มากขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และยังขอให้ช่วยพิจารณาเพิ่มเติมถึงแนวทางขยับเงินได้สุทธิที่ไม่ต้องเสียภาษีจากขณะนี้กำหนดไว้ที่ 150,000 บาทต่อปี เป็น 200,000 บาทต่อปี

รวมถึงให้คงรายการหักลดหย่อนภาษีต่างๆ ไว้เหมือนเดิม ที่ 19 รายการ จากที่กรมสรรพากรได้เสนอให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีบางรายการออกไป เพราะเห็นว่าบางรายการนั้น มีแต่คนรวยที่ได้รับประโยชน์ ขณะที่คนจน คนชั้นกลาง มนุษย์เงินเดือนทั่วไปไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ โดยจะให้กำหนดวงเงินหักลดหย่อนภาษีรวมทุกรายการไว้ไม่เกินปีละ 700,000 บาท พร้อมทั้งคาดหวังว่าจะได้ใช้โครงสร้างภาษีใหม่นี้ในปีภาษี  55 ด้วยแต่ที่ทั้ง รมว.และ รมช.คลัง มีความเห็นตรงกันอยู่เรื่องเดียวคือ การไม่แตะต้องภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ 7% โดยให้คงไว้ระดับเดิมต่อไป

ขณะที่ภาษีสรรพสามิตนั้น หลังจากต้องยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินออกไปชนิดเดือนต่อเดือน รวมทั้งภาษีรถยนต์ที่ยังไม่สามารถใช้โครงสร้างใหม่ได้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากมหาอุทกภัยถล่มเมื่อปลายปีก่อน รัฐก็หันไปเก็บภาษีสินค้าบาปต่าง ๆ แทนไปก่อน ทั้งสุรา ยาสูบ เบียร์ แต่จะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเชื่อว่าจะไม่มีกระแสคัดค้านแต่อย่างใด

เช่นการเก็บภาษีไวน์ ที่เปลี่ยนวิธีเก็บภาษีตามปริมาณ เริ่มต้นที่ลิตรละ 200-300 บาท อาทิ ไวน์นำเข้า 1 ลิตร ไม่ว่าจะราคาขวดละ 500 บาท หรือ 10,000 บาท จะเก็บภาษีเพิ่มอัตราเท่ากันอีกขวดละ 300 บาท นอกจากจะได้ดื่มไวน์ราคาถูกลงแล้ว ยังลดการลักลอบนำเข้าด้วย คาดว่าจะทำให้กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้เพิ่มจากเดิมปีละ 1,000 ล้านบาทเป็น 5,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กำลังพิจารณาจะเก็บ ภาษีเฉพาะค่าบริการโทรศัพท์มือถือ คาดว่าไม่น่าจะเกิน 3% จากเดิม 10% รวมถึงจะขยายการเก็บไปในช่องทางบริการอื่น ๆ ผ่านมือถือที่มีปริมาณผู้ใช้จำนวนมากด้วย เช่น บริการดาด้าเซอร์วิส, โซเชียลมีเดีย, เอสเอ็มเอส เป็นต้น คาดว่าจะเก็บภาษีได้ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาทแน่นอน รวมถึงกำลังพิจารณาหันมาเก็บ ภาษีเครื่องปรับอากาศ 10-15% จากเดิมที่เคยยกเลิกไปเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ปรากฏว่าไม่ได้ทำให้ราคาเครื่องปรับอากาศถูกลงแต่อย่างใด

ทั้งนี้นโยบายการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์นั้น “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ยึด 3 หลักการคือ ต้องไม่ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง ไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการมากขึ้น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องสอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 58 ที่ไทยจะขึ้นเป็น 1 ใน 10 ของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะปรับลดภาษีลงหลายรายการเพื่อเอาใจประชานิยม จนมีผลทำให้ปีนี้กรมสรรพากรต้องเสียรายได้ไปกว่า 200,000 ล้านบาท ทั้งจากมาตรการช่วยเหลือทางภาษีเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมต่างๆ เช่น ค่าลดหย่อนซ่อมบ้านและซ่อมรถรวมถึงมาตรการบ้านหลังแรก  70,000 ล้านบาท การลดภาษีนิติบุคคลอีก 45,000 ล้านบาท แต่ยังมั่นใจว่าปีงบประมาณ 55 นี้ น่าจะยังเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.62 ล้านล้านบาท ได้อยู่ เพราะช่วง 6 เดือนของปีงบประมาณ 55 ที่ผ่านมานี้ จัดเก็บรายได้เกินเป้าอยู่ 10% หรือ 14,500 ล้านบาท โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นมาก

อีกทั้งกรมฯ ได้ลดการรั่วไหล เข้มงวดการเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะการตรวจสอบย้อนหลังธุรกิจนอกระบบ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซย้อนหลัง 5-10 ปี ดึงให้เข้ามาอยู่ในฐานการเสียภาษีให้มากขึ้น

แต่การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตนั้น ต้องยอมปรับลดเป้าหมายลงไปบ้าง จากที่ตั้งไว้  405,000 ล้านบาท เพราะลำพังแค่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ก็ทำให้รายได้หายไปถึงเดือนละ 9,000 ล้านบาท แต่หากสามารถเก็บภาษีบาปรายการอื่นมาทดแทนได้ ก็ยังมีสิทธิที่จะเก็บภาษีเข้าเป้าหมายได้อยู่

’ภาษี” คือเงินจากทุกคนในประเทศ เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะนำมาใช้จ่าย ลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเยียวยาประชาชน และประเทศชาติ ให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้ แต่หากรัฐบาลทำเพียงหวังแค่คะแนนเสียงจากรากหญ้า อาจเป็นเพียงการเผาแบงก์พันเพื่อหาเหรียญบาทเท่านั้นเอง
แหล่งที่มา   เว็บไซต์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 เวลา 00:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...