นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในเดือนเม.ย.เป็นเดือนที่สภาพอากาศร้อนและแดดจัด ผู้ที่ประกอบอาชีพอยู่กลางแจ้ง ต้องทำงานตากแดดตลอดเวลา หรือผู้ที่ขับรถในช่วงกลางวัน รวมทั้งคนที่อยู่ตามเกาะกลางทะเลหรืออยู่ใกล้กับทะเล ซึ่งจะโดนแสงแดดสะท้อนจากผิวน้ำมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตาต้อเนื้อ เยื่อบุตาอักเสบ
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้นด้วย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากรังสียูวีที่มีในแสงแดด ดังนั้นประชาชนที่จะออกเล่นสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้ถนอมและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา ควรสวมหมวกที่มีปีกและสวมแว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกแดด
ทั้งนี้แสงยูวีที่เป็นอันตรายต่อสายตามากที่สุดคือ แสงยูวีชนิด เอ และชนิด บี และเราสามารถได้รับแสงทั้ง 2 ชนิดนี้ในช่วง 10.00-14.00 น.ของทุกวัน โดยแสงยูวีเอ และยูวีบี จะเข้มข้นมากที่สุดในช่วงเที่ยงวัน เนื่องจากดวงอาทิตย์จะส่องแสงมาเป็นแนวตรง จึงทะลุชั้นโอโซนลงมาอย่างเต็มที่
"หากเราหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดในช่วงนี้ ก็จะเป็นการป้องกันตนเองได้ในระดับหนึ่ง อันตรายจากแสงยูวีบี คือทำให้ผิวหนังแดง ร้อนจนถึงไหม้ อันตรายต่อดวงตาจะทำให้กระจกตาอักเสบ โดยมีอาการปวดตา น้ำตาไหล ตาแดง เช่นเดียวกันกับการโดนแสงที่เชื่อมโลหะ หากได้สัมผัสกับแสงยูวีทั้งชนิด เอ และชนิด บี อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคต้อเนื้อ ต้อลม เยื่อบุตาอักเสบ รวมทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุอีกด้วย"นพ.สุรวิทย์กล่าว
สำหรับวิธีง่ายๆ ที่จะป้องกันดวงตาจากอันตรายที่เกิดจากรังสียูวี คือ
- ใส่หมวกที่มีปีกยื่นออกมาข้างหน้า ซึ่งจะช่วยลดแสงได้ร้อยละ 50
- ใส่แว่นกันแดด ช่วยลดแสงได้ร้อยละ 85 และ
- ใส่ทั้งหมวกและแว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกแดด จะช่วยลดการได้รับแสงถึงร้อยละ 95
ทั้งนี้แว่นกันแดดที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้ดีที่สุด คือ แบบที่มีปีกปิดกรองแสงรอบด้าน แต่ถ้าเป็นแว่นกันแดดแบบธรรมดา และใส่ห่างจากดวงตาจะกรองแสงยูวีได้แค่ร้อยละ 75 เท่านั้น ส่วนกรณีที่มีบางคนนิยมใส่แว่นกันแดดเลนส์ที่มีสีเหลือง หรือสีอื่นๆ เป็นเพียงแค่การลดความเข้มของแสงเท่านั้น ไม่มีผลต่อการกรองแสงยูวีแต่อย่างใด
แหล่งที่มา เว็บไซต์โพสทูเดย์ 14 เมษายน 2555 เวลา 14:58 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น