๑. เกิดวันอาทิตย์ พระปางถวายเนตร |
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองข้างเพ่งไปข้างหน้า ทอดพระเนตรดูต้นศรีโพธิ์พฤกษ์ พระหัตถ์ทั้งสองลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา พระหัตถ์ขาวทับพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในอาการสังวร
ประวัติและความสำคัญ
ครั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ที่ต้นศรีมหาโพธิ์ ๗ วันแล้ว ก็เสด็จจากร่มพระศรีมหาโพธิ์ไปประทับยืนกลางแจ้ง ทางทิศอีสานของต้นศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์โดยไม่กะพริบพระเนตร ด้วยพระอิริยาบถนั้น ๗ วัน สถานที่เสด็จประทับยืนทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์นั้นเป็นนิมิตมหามงคล ปรากฏชื่อว่า อนิมิสสเจดีย์ พระพุทธจริยาที่ทรงเพิ่งจ้องพระเนตรดูต้นศรีมหาโพธิ์ โดยมิได้ทรงกะพริบ พระเนตรถึง ๗ วันนี้ เป็นเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า ปางถวายเนตร นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูป เพื่อสักการะบูชาประจำของคนเกิดวันอาทิตย์ อนึ่งต้นไม้อสัตถโพธิ์พฤกษ์อันเป็นสถานที่กำเนิด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและสัจธรรมอันบริสุทธิ์ สำหรับชำระกิเลสและปลดเปลี้องความทุกข์แก่ชาวโลก จึงได้มีนามตามการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์พฤกษ์ .
คาถาสวดบูชา
- อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหะมะณา เวทะคุ
- สัพพะธัมเม เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา นะโม
- วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัตวา โมโร จะระติ เอสนา ฯ
เลือกใส่บาตรวันอาทิตย์
- อาหารคาว : ประเภทไข่ ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย ต้ม แกงกะทิ
- อาหารหวาน : ไข่หวาน มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก้ว ขนมใส่กะทิ น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะพร้าว น้ำขิง เงาะ
- ของถวายพระ : หลอดไฟ ไฟฉาย เทียน ธูป อุปกรณ์แสงสว่าง แว่นตา หมากพลู
- ทำทาน : เติมน้ำมันตะเกียงตามวัด คนตาบอด โรงพยาบาลโรคตา มูลนิธิคนตาบอด โรงพยาบาลโรคหัวใจ มูลนิธิโรคหัวใจ
- พฤติกรรม : ออกรับแสงอาทิตย์อ่อนๆ ช่วงเช้าหรือเย็นๆ เพื่อให้เกิดพลัง อย่าใจร้อน เลิกทิฐิ ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
๒. เกิดวันจันทร์ พระปางห้ามญาติ
๒. เกิดวันจันทร์ พระปางห้ามญาติ |
พระพุทธรูปปางนี้นอยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงห้าม เป็นแบบทรงเครื่องก็มี
ประวัติและความสำคัญ
ณ พระนครกบิลพัสดุ์ อันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับของเจ้าศากยะ ซึ่งเป็นพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธบิดา กับพระนครเทวทหะอันเป็นแว่นแคว้นที่ประทับอยู่ของเจ้าโกลิยะ ซึ่งเป็นพระญาติข้างฝ่ายพระพุทธมารดา ทั้งสองพระนครนี้ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโรหิณี ชาวนาของ ๒ พระนครนี้ อาศัยน้ำในแม่น้ำโรหิณีนี้ ทำนาร่วมกันมาโดยปกติสุข ต่อมาสมัยหนึ่งฝนแล้ง น้ำน้อย น้ำในแม่น้ำโรหิณีเหลือน้อย ชาวนาทั้งหมดต้องกั้น ทำนบทดน้ำในแม่น้ำโรหิณีขึ้นมาทำนา แม้ดังนั้นแล้ว น้ำก็ยังไม่พอ เป็นเหตุให้มีการแย่งน้ำกันทำนาขึ้น ขั้นแรกก็เป็นการวิวาทกันเฉพาะเพียงบุคคลต่อบุคคล แต่เมื่อไม่มีการระงับด้วยสันติวิธี การวิวาทนั้นก็ลุกลามมากขึ้นจนถึงคุมสมัครพรรคพวกเข้าไปประหารกัน และด่าว่ากระทบถึงชาติ โคตร และลามปามไปถึงราชวงศ์ ในที่สุดกษัตริย์ผู้เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้าทั้งสองเมือง ก็ยกกำลังพลเข้าประชิดกัน เพื่อแย่งน้ำ โดยหลงเชื่อคำยุยุงพูดเท็จของอำมาตย์ที่กำลังเคียดแค้น มิทันได้ทรงวินิจฉัยให้ถ่องแท้แน่นอนว่า เมื่อเรื่องเล็กน้อยเช่นนั้นเกิดขึ้น ควรจะระงับด้วยสันติวิธี พระพุทธเจ้าทรงทราบก็ทรงพระมหากรุณาเสด็จมาห้าม สงครามการแย่งน้ำระหว่างพระญาติทั้งสองฝ่าย โดยทรงแสดงโทษคือความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์โดยเหตุอันไม่สมควร ที่พระราชาจะต้องมาล้มตายทำลายเกียรติของตน เพียงเพราะแย่งน้ำกันทำนาเพียงเล็กน้อย ครั้นแล้วพระญาติทั้งสองฝ่ายก็ทำความเข้าใจกันได้และหันมาสามัคคีกัน พระพุทธจริยาที่ทรงโปรดพระญาติ เพื่อห้ามมิให้ทะเลาะวิวาท สู้รบกันเพราะเหตุแห่งการแย่งน้ำนี้ เป็นมงคลแสดงอนุภาพแห่งธรรมที่พระองค์ทรงแสดง พุทธศาสนิกชนผู้หนักในธรรมคำสอน เล็งเห็นคุณอัศจรรย์แห่งอนุสาสนีปาฎิหาริย์ จึงถือเป็นเหตุในการสร้าง พระพุทธรูปขึ้น เรียกว่า ปางห้ามญาติบ้าง ปางห้ามสมุทรบ้าง
คาถาสวดบูชา
- ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โยจามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห
- ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสเมนตุ ฯ
- ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โยจามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห
- ทุสสุปินัง อะกันตัง ธัมมานุภาเวนะ วินาสเมนตุ ฯ
- ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โยจามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท ปาปัคคะโห
- ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสเมนตุ ฯ
เลือกของใส่บาตรวันจันทร์
- อาหารคาว : ประเภทสัตว์ปีก สัตว์น้ำ เช่นไก่ผัดขิง ไก่ย่าง ไก่ทอด ปูผัดผงกะหรี่ ปูนึ่ง ข้าวมันไก่ ข้าวผัดปู เต้าหูทอด แกงจืดเต้าหู้ แกงเผ็ดเป็ดย่าง ปลาสลิดทอด
- อาหารหวาน : น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำอ้อย โดนัท นมสด นมกล่อง เผือก มันลางสาด ขนมเปี๊ยะ
- ของถวายพระ : แก้วน้ำ แจกัน ของโปร่งๆ ใสๆ
- ทำทาน : มูลนิธิช่วยเหลือสตรี
- พฤติกรรม : ทำจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส อยู่เสมอ อย่าวิตกกังวลเกินเหตุ บริหารกล้ามเนื้อหน้าอกให้แข็งแรง ให้ความช่วยเหลือสตรีเช่นลุกให้สตรีนั่งบนรถเมล์
๓. เกิดวันอังคาร พระปางไสยาสน์
๓. เกิดวันอังคาร พระปางไสยาสน์ |
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา เมื่อคราวจะปรินิพพาน หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทายไปตามพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระวรกาย พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาลักษณะตั้งซ้อนกัน
ประวัติและความสำคัญ
พระพุทธเจ้าครั้นโปรดสุภัททปริพาชกให้บรรพชาอุปสมบทและให้สำเร็จเป็น พระอริยเจ้าเป็นปัจฉิมสาวกแล้ว ต่อมาพระอานนท์จึงได้ทูลถามพระองค์ว่า พระฉันนะถือตัวว่าเป็นข้าเก่า ติดตามพระองค์คราวเสด็จออกบวช เป็นคนว่ายากสอนยาก แม้จะกรุณาเตือนแล้วก็ตาม เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ยิ่งจะว่ายากขึ้นไปอีก หาผู้ยำเกรงมิได้ ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติต่อพระฉันนะนั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือ ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอน เมื่อถูกพรหมทัณฑ์แล้ว จะสำนึกผิดเอง ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าได้ตรัสปัจฉิมโมวาท เตือนว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรม เธอทั้งหลาย จงทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ในลำดับแห่งการพิจารณาองค์แห่งจตุถฌาน ก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินใหญ่ไหวสะเทือนสะท้าน เกิดการโลมชาติ ชูชันขันพองสยองเกล้า กลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ พร้อมกับการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพากันเศร้าโศก ร่ำไห้ คร่ำครวญถึงพระองค์ พระอานนท์และพระอนุรุทธเถระได้แสดงธรรมเพื่อปลอบโยนมหาชน พุทธศาสนิกชนเมื่อรำลึกถึงการเสด็จปรินิพพานของพระองค์ จึงได้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เพื่อบูชาพระพุทธองค์
- ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เส ฯ
สวดวันละ 8 จบ จะเกิดผลดี และผู้ที่เกิดวันอังคาร ควรใช้ของประดับตัวและบ้านเรือนเป็นสีชมพู หรือ สีแดงหลัว ส่วนสีรองๆ ลงมาคือ สีดำ สีกรมท่า สีน้ำเงินแก่ สีเหลือง สีแดง พึงเว้นสีขาวนวล
เลือกของใส่บาตรวันอังคาร
- อาหารคาว : อาหารประเภทเส้น ขนมจีน วุ้นเส้น บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว เนื้อวัว ปลาช่อนตากแห้งทอด
- อาหารหวาน : ฝอยทอง สลิ่ม ลอดช่อง ทุเรียน ระกำ ขนุน น้ำสไปร์ท น้ำอัดลม
- ของถวายพระ : เหล็ก เครื่องมือประเภทเหล็ก กรรไกร แปรงสีฟัน ยาสีฟัน พัดลม กรรไกรตัดเล็บ
- ทำทาน : คนพิการทางปาก ปากแหว่ง ผู้ป่วยโรคลมชัก
- พฤติกรรม : ทำตัวให้กระฉับกระเฉง ตื่นตัว ขยันให้มากขึ้น ลดอารมณ์ร้อน การชิงดีชิงเด่น
๔. เกิดวันพุธ กลางวัน พระปางอุ้มบาตร
๔. เกิดวันพุธ กลางวัน พระปางอุ้มบาตร |
ลักษณะพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน ส้นพระบาททั้งสองชิดติดกัน พระหัตถ์ทั้งสองข้างชิดกัน พระหัตถ์ทั้งสองยกประคองบาตรราวสะเอว มีบาตรอยู่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคอง
ประวัติและความสำคัญ
ประวัติที่เป็นเรื่องราวนั้นสืบเนื่องต่อมาจากพระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ กล่าวคือ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ ครั้งแรกทรงทำอิทธิปาฎิหาริย์ เหาะขึ้นไปบนอากาศ ทรมานให้พระประยุรญาติได้ถวายบังคมแล้วเสด็จลงมาประทับนั่ง บนพระบวรพุทธอาสน์ ยังฝนโบกขรพรรษ์ให้ตกลงในท่ามกลางสมาคมพระญาติ แล้วทรงประกาศมหาเวสสันดรชาดก ยกขึ้นเป็นเทศนา ครั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว บรรดาพระญาติทั้งหลาย มีพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาเป็นประธาน ก็ได้เบิกบานปีติปาโมทย์ เปิดพระโอษฐ์แซ่ซ้องสาธุการแล้ว พระญาติทั้งหลายก็กราบทูลลาคืนยังพระราชสถานแห่งตน มิได้มีพระญาติสักองค์หนึ่ง ได้กราบทูลอาราธนาให้ทรงรับอาหารบิณฑบาตรในยามเช้าพรุ่งนี้ แม้แต่พระเจ้าสุทโธทนะ ก็เพียงแต่ทูลลามิได้ทูลอาราธนาเสวยพระกระยาหารเช้า เช่นกัน ด้วยทรงนึกไม่ถึงว่า ธรรมดาพระจะต้องอาราธนา จึงจะได้มารับบิณฑบาตรในบ้านซึ่งเป็นปกติของสามัญชนธรรมดาทั่วไป พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ทรงรู้สึกอย่างเป็นพระญาติที่สนิทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระโอรส พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นก็เป็นศิษย์ของพระโอรสแล้วพระโอรสจะเสด็จไปไหนเสีย เมื่อไม่มายังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ จึงไม่จำเป็นต้องทูลอาราธนา พระเจ้าสุทโธทนะทรงแน่พระทัยเป็นอย่างยิ่งว่า พระบรมศาสดาจะต้องพาพระสาวก ทั้งหลายมาเสวยพระกระยาหารในพระราชนิเวศน์ของพระองค์แน่นอน จึงไม่ทรงทูล อาราธนา ยิ่งไปกว่านั้นยังกลับเห็นว่า หากออกพระกระแสรับสั่งอาราธนา ก็จะกลายเป็นว่า พระบรมศาสดาเป็นคนอื่นมิใช่พระโอรส ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จถึงพระราชนิเวศน์ จึงโปรดให้พนักงานจัดแจงตกแต่งอาหารอันประณีตเป็นพิเศษไว้พร้อมมูล เพื่อถวายพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์สาวกทั้งมวลในวันพรุ่งนี้ ตลอดเวลาเย็นถึงเวลารุ่งเช้า เมื่อไม่ปรากฏว่ามีใครมาอาราธนาพระบรมศาสดาไปเสวยที่ใดแล้ว พระองค์ก็ทรงพิจารณาว่า พระพุทธเจ้าในปางก่อน เมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระนครของพระพุทธบิดาแล้ว ทรงปฎิบัติอย่างไร ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า พระพุทธเจ้าในปางก่อนได้เสด็จไปบิณฑบาตรตามลำดับตรอก ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบอย่างนี้แล้ว จึงทรงถือเอาบาตรและจีวรพาภิกษุสงฆ์ เสด็จพระดำเนินไปตามท้องถนนหลวง ปรากฏแก่ประชาราษฏร์ ต่างได้มีโอกาสชมพระบารมี และมีความปีตียินดีประณมหัตถ์นมัสการ นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้เห็น พระบรมศาสดาทรงอุ้มบาตร เสด็จพระพุทธลีลาโปรดประชาสัตว์ เป็นการเพิ่มพูนความปีติ โสมนัส พระพุทธจริยาตอนนี้เป็นเหตุให้พุทธบริษัทสร้างพระพุทธรูป เรียกว่า ปางอุ้มบาตร
คาถาสวดบูชา
- สัพพาสีวะชาตีนัง ทิพพะมันตาทะคัง วิยะ ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
- อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณิณัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเส ฯ
สวดวันละ 17 จบ จะมีความสุขสวัสดียิ่งๆ ขึ้นไป และผู้ที่เกิดวันพุธ ควรใช้ของประดับตัวและบ้านเรืออนเป็นสีเขียว หรือสีเขียวใบไม้ ส่วนสีรองๆ ลงมา คือ สีเหลือง สีเทา สีดอกรัก สีเมฆหมอก สีขาวนวล พึงเว้น สีม่วง
เลือกของใส่บาตรวันพุธ (กลางวัน)
- อาหารคาว : เน้นสีเขียว-หมู แกงเขียวหวานหมู หมูปิ้ง หมูทอด ผัดพริกหมู คะน้าน้ำมันหอย
- อาหารหวาน : ขนมเปียกปูนเขียว น้ำฝรั่ง ชมพู่เขียว องุ่นเขียว มะม่วงเขียวเสวยฝรั่ง ชามะนาว
- ของถวายพระ : สมุด กระดาษ ปากกา ดินสอ อุปกรณ์การเรียนการศึกษา
- ทำทาน : คนพิการทางหู โรงพยาบาลโรคสมอง โรงเรียนสอนคนหูหนวก
- พฤติกรรม : อ่านหนังสือธรรมะ ร้องเพลง ฝึกสร้างความมั่นใจให้ตนเอง
๕. เกิดวันพฤหัสบดี พระปางตรัสรู้หรือปางสมาธิ
๕. เกิดวันพฤหัสบดี พระปางตรัสรู้หรือปางสมาธิ |
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองหงายวางซ้อนกัน บนพระเพลา คือพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ขาวทับพระชงฆ์ซ้าย
ประวัติและความสำคัญ
เมื่อพระมหาบุรุษบรมโพธิสัตว์ ทรงกำจัดพญามาร และเสนามารให้ปราชัยด้วยพระบารมี ตั้งแต่เวลาสายัณห์มิทันพระอาทิตย์จะอัสดง ก็ทรงเบิกบานพระทัยได้ปีติเป็นกำลังภายในสนับสนุนเพิ่มพูนแรงปฎิบัติภาวนาให้ยิ่งขึ้น ดังนั้น พระองค์จึงมิได้ทรงพักให้เสียเวลาทรงเจริญสมาธิภาวนาทำจิตใจให้ปราศ จากอุปกิเลสจนจิตสุขุมเข้าโดยลำดับ ไม่ช้าก็ได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน อันเป็นส่วนรูปสมบัติตามลำดับ ต่อจากนั้น ก็ทรงเจริญญานอันเป็นองค์ปัญญาชั้นสูง ๓ ประการ ยังองค์พระโพธิญาณให้เกิดขึ้นเป็นลำดับ ตามลำดับแห่งยามสามอันเป็นส่วนราตรี นั้นคือ ในปฐมยาม ทรงบรรลปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกอดีตชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจตูปปาตญาณ หรือทิพจักขุญาณ สามารถหยั่งรู้การเกิด การตาย ตลอดจนการจุติและปฎิสนธิของสัตว์ทั้งหลายได้หมด ในปัจฌิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงพระปรีชาสามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไป ด้วยปัญญาพิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลมทั้งฝ่ายเกิดและฝ่ายดับ สาวไปข้างหน้าและสาวกลับไปมาแล้ว ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลา ปัจจุสสมัยรุ่งอรุโณทัย ทรงเบิกบานพระหฤทัยอย่างสูงสุดในการตรัสรู้อย่างไม่เคยมีมาก่อน ถึงกับทรงเปล่งอุทานเย้ยตัณหา อันเป็นตัวการก่อให้เกิดสงสารวัฏฏทุกข์แก่พระองค์หลายเอนกชาติว่า "นับแต่ตถาคตท่องเที่ยวสืบเสาะหานายช่างเรือนคือตัณหา ตลอดชาติอันจะนับประมาณมิได้ ก็มิได้พบท่านเลย นับแต่นี้ไป ท่านจะทำเรือนให้ตถาคตไม่ได้อีกแล้ว กลอนเรือนเราก็ได้รื้อเสียแล้ว ช่อฟ้าเราก็ทำลายแล้ว จิตของเราปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งมีกิเลสไปปราศแล้ว เราถึงความดับสิ้นไปแห่งตัณหาแล้ว" ในขณะนั้นมหาอัศจรรย์ก็บังเกิดมีขึ้น กล่าวคือ พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็หวั่นไหว พฤกษาชาติทั้งหลายก็ผลิตดอกออกช่องามตระการตา เทพเจ้าทุกข์ชั้นฟ้าก็แซ่ซ้องสาธุการโปรยปรายบุปผามาลัยทำสักการะบูชา เปล่งวาจาว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก ด้วยปีติยินดีเป็นเหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เรื่องนี้จึงเป็นมูลเหตุให้มีการสร้างพระพุทธรูปปางตรัสรู เพื่อเป็นพุทธานุสสติ ฉะนี้แล
- ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง โมระโยนิยัง เยนะ สังวิหิตารักขัง มหาสัตตัง
- วเนจรา จิรัสสัง วายะมันตาปิ เนวะ สักขิงสุ คัณหิตุง ฯ
สวดวันละ 19 จบ จะมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป และผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี พึงใช้เครื่องประดับและบ้านเรือนเป็นสีเหลืองหรือสีไพล ส่วนสีรองลงมาคือ สีน้ำเงิน สีแดง สีเขียว พึงเว้น สีดำ สีกรมท่า และสีน้ำเงินแก่
เลือกของใส่บาตรวันพฤหัสบดี
- อาหารคาว : ประเภทเถา แกงเลียง บวบผัดไข่ น้ำเต้า
- อาหารหวาน : แตงโม แตงไทย น้ำสมุนไพร ส้ม สาลี่ น้ำมะตูม น้ำว่านหางจระเข้
- ของถวายพระ : สบง จีวร หนังสือธรรมะ ตู้ยา โต๊ะหมู่บูชา
- ทำทาน : โรงพยาบาลสงฆ์ บริจาคข้าวสาร เสื้อผ้า ผ้าห่มกันหนาว
- พฤติกรรม : นั่งสมาธิ สวดมนต์ ถือศีล 5 อย่าซื่อจนเกินไป
๖.เกิดวันศุกร์ พระปางรำพึง
๖.เกิดวันศุกร์ พระปางรำพึง |
ลักษณะพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระบาททั้งสองประทับยืนชิดติดกัน
ประวัติและความสำคัญ
เมื่อตปุสสะและภัลลิกะ ๒ พาณิชกราบทูลลาไปแล้ว พระพุทธองค์เสด็จกลับจากร่มไม้ราชายตนะ ไปประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชลปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง และทรงรำพึงถึงธรรม ที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้นว่า เป็นธรรมประณีตละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ ยากที่บุคคลจะรู้ได้ ทำให้ท้อแท้พระทัยถึงกับทรงดำริจะไม่แสดงธรรมแก่มหาชน ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบวาระจิตของพระพุทธองค์ จึงร้องประกาศชวนเทพยดาทั้งหลาย พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ยังที่ประทับ ฯ ควงไม้อชปาลนิโครธ ถวายอภิวาทแล้วกราบ ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ ขอให้ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชน เพื่อบุคคลผู้มีธุลีในนัยน์ตาน้อย ทั้งมีอุปนิสสัยอันจะเป็นพุทธสาวก จะได้ตรัสรู้ธรรมบ้าง พระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงธรรมเนียม ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า ได้ตรัสรู้แล้วย่อมทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนทั้งหลาย ประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาล เพื่อประโยชน์สุขแก่ปัจฉิมชนผู้เกิดมาภายหลัง แล้วจึงเสด็จปรินิพพาน จึงได้น้อมพระทัยไปในอันแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ในโลก แล้วพระพุทธองค์ ทรงพิจารณาอีกว่า จะมีผู้รู้ถึงธรรมนั้นบ้างหรือไม่ ก็ทรงทราบถึงอุปนิสัยของบุคคลทั้งหลาย ในโลกนี้ย่อมมีต่าง ๆ กัน คือ ทั้งประณีต ปานกลางและหยาบ ที่มีนิสัยดีมีกิเลสน้อยเบาบาง มีบารมีที่ดีสั่งสมอบรมมาแล้ว ซึ่งพอจะตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้ก็มีอยู่ ผู้มีอินทรีย์ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิปัญญากล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่ายก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยยากก็มี เป็นผู้สามารถจะรู้ได้ก็มี เป็นผู้ไม่สามารถจะรู้ได้ก็มี บุคคลจึงเปรียบเหมือนดอกบัวที่เกิดในน้ำเจริญในน้ำ น้ำเลี้ยงอุปถัมภ์ไว้ บางเหล่ายังจมอยู่ในน้ำ บางเหล่าอยู่เสมอน้ำ บางเหล่าขึ้นพ้นน้ำแล้วในดอกบัว ๓ เหล่านั้น ดอกบัวที่ขึ้นพ้นน้ำแล้วนั้นคอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์อยู่จักบาน ณ เช้าวันนี้ ดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำ จักบาน ณ วันพรุ่งนี้ ดอกบัวที่ยังไม่ขึ้นจากน้ำ ยังอยู่ภายในน้ำ จักบานในวันต่อ ๆ ไป ดอกบัวที่จะบานมีต่างชนิดฉันใด เวนัยสัตว์ที่จะตรัสรู้ธรรมก็มีต่างกัน ฉันนั้นเหมือนกัน คือ ผู้มีกิเลสน้อยเบาบาง มีอินทรีย์แก่กล้า เป็นผู้ที่พึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย และอาจจะรู้ธรรมพิเศษนั้นได้โดยฉับพลัน ผู้มีคุณสมบัติเช่นนั้นเป็นประมาณปานกลาง เมื่อได้รับอบรมในปฏิปทาอันเป็นบุพพาค จนมีอุปนิสสัยแก่กล้าดังกล่าว แต่ยังอ่อน ก็ยังควรได้รับการแนะนำในธรรมเบื้องต่ำต่อไปก่อนเพื่อบำรุงอุปนิสัย เมื่อเป็นเช่นนี้ พระธรรมเทศนาของพระองค์คงไม่ไร้ผล จักยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่คน ทุกหมู่เหล่า เว้นแต่จำพวกปทปรมะ ซึ่งมิใช่เวไนย คือ ไม่รับการแนะนำ ซึ่งเปรียบด้วยดอกบัวอ่อน อันจะเป็นภักษาหารของปลาและเต่าต่อไป ครั้นพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ หยั่งทราบเวไนยสัตว์ผู้จะรับประโยชน์จากพระธรรมเทศนาแล้ว ก็ทรงอธิษฐานพระหฤทัยในอันจะแสดงธรรมสั่งสอนไวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานจะใคร่ดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้ประกาศพระพุทธศาสนา ให้แพร่หลายประดิษฐานให้มั่นคงสำเร็จประโยชน์แก่ชนนิกรทุกหมู่เหล่าต่อไป พระพุทธจริยาที่ทรงรำพึงถึงธรรมที่จะแสดงโปรดชนนิกรผู้เป็นเวไนยบุคคลนั้นแล เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า ปางรำพึง
- อัปปะสันเนหิ นาถัสสะ สาสะเน สาธุ สัมมะเต อะมะนุสเนหิ จัณเฑหิ สะทา กิพพิ
- สะการิภิ ปะริสานัญจะ ตัสสันนัง มะหิงสายะ จะ คุตติยา ยันเทเสหิ มะหาวีโร ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
สวดวันละ 21 จบ จะมีความสุขสวัสดีตลอดกาลนาน และผู้ที่เกิดวันศุกร์ พึงใช้เครื่องประดับและบ้านเรือนเป็นสีฟ้าหรือสีน้ำเงินแก่ ส่วนสีรองลงมาคือ สขาวนวล สีม่วง สีเหลือง พึงเว้นสีเทา สีเมฆหมอก สีดอกรัก
เลือกของใส่บาตรวันศุกร์ ...รักความสุขสบาย สำราญ
- อาหารคาว : ประเภทของหอม หวาน ข้าวหอมมะลิ ผักกาดหอม ไข่เจียวหอมใหญ่ ยำหัวหอม
- อาหารหวาน : ขนมหวาน หอมทุกชนิด น้ำเก๊กฮวย ผลไม้ที่มีกลิ่นหอม กล้วยหอม เค้ก
- ของถวายพระ : นาฬิกา โต๊ะรับแขก ดอกไม้สวยหอม ระฆัง ย่าม
- ทำทาน : เด็กด้อยโอกาส ให้เงิน ให้เสื้อผ้า อาหารที่หอมหวานชวนกิน เช่น ไอศกรีม
- พฤติกรรม : ทำตัวให้สดชื่นแจ่มใส บำรุง ดูแลตัวเองให้ดูดีอยู่ตลอด จัดสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ สวยงาม เลิกการฟุ่มเฟือย
๗.เกิดวันเสาร์ พระปางนาคปรก |
ลักษณะพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ ทรงหงายพระหัตถ์ทั้งสองแบวางซ้อนกัน บนพระเพลา พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้าย มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมเบื้องพระเศียร
ครั้นพระพุทธองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น ๗ วัน แล้วพระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้จิก อันมีชื่อว่า มุจจลินท์ ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ วันนั้นเกิดฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญานาคมุจจลินท์ ผู้เป็นราชาแห่งนาค ได้ออกจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบน เหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบ ยุง บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย ครั้งฝนหายแล้ว พญามุจจลินท์นาคราช จึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกาย พระพุทธเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ ในที่เฉพาะพระพักตร์ ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า สุโข วิเวโก ตุฏฺฐัสสะ สุตะธัมมัสสะ ปัสสะโต อัพยาปัชชัง สุขัง โลเก ปาณะภูเตสู สัญญะโม สุขา วิราคะตา โลเก กามานัง สะมะติกฺกะโม อัสมิมานัสสะ วินะโย เอตัง เว ปะระมัง สุขัง ฯ ความว่า ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขในโลกความนำออกเสียซึ่งอัสมินมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ภายในวงขนดของพญานาคมุจจลินท์นาคราชที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้ เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมา เรียกว่า ปางนาคปรก เรื่องพระปางนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระองค์อย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพราหมณ์ ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามประวัติ ก็จะเป็นไปอีกในลักษณะหนึ่งคือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระวรกายด้วยขนดตัวพญานาคถึง ๔-๕ ชิ้น จนบังพระวรกายมิดชิด เพื่อป้องกันฝนและลม จะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร พระศอ และพระอังสาเป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบนก็มีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย
คาถาสวดบูชา
- ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา
- โวโรเปตา เตน สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ คัพภัสสะ ฯ
- อาหารคาว : ประเภทของขม ของดำมะระยัดไส้ สะเดาน้ำปลาหวาน น้ำพริกปลาทู มะเขือยาว
- อาหารหวาน : ลูกตาลเชื่อม กาแฟ โอเลี้ยง
- ของถวายพระ : ร่มสีดำ กระเบื้องมุงหลังคา ไม้กวาด สร้างห้องน้ำถวายวัด
- ทำทาน : โรงพยาบาลโรคจิต โรงพยาบาลโรคประสาท
- พฤติกรรม : กวาดลานวัด ล้างห้องน้ำวัด ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี ขยะในบ้านยกทิ้งทุกวัน อย่าหมักหมม
(ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันพุธถึง 06.00 น.ของวันพฤหัสบดี หรือบางคนก็นับตั้งแต่ 18.00 – 24.00 น.ของวันพุธ (สุดแต่ความเชื่อ))
๘. เกิดวันพุธ กลางคืน พระปางป่าเลไลย์ |
ลักษณะพระพุทธรูป
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา ห้อยพระบาททั้งสองข้างลง ทอดพระบาทเล็กน้อย พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุขวาเป็นกิริยาทรงรับ มีช้างหมอบถือน้ำยื่นถวาย และมีลิงหมอบถือรวงผึ้งถวายอยู่ข้างหน้า
ณ เมืองโกสัมพีมีพระภิกษุ ๒ ฝ่ายอยู่ในวิหารเดียวกันคือฝ่ายพระวินัยธร ที่ถือเคร่งครัดทางพระวินัย และฝ่ายพระธรรมธร ที่ถือการแสดงธรรมเป็นใหญ่ แต่ละฝ่ายก็มีลูกศิษย์เป็นบริวารมากมาย วันหนึ่งพระธรรมธรได้เข้าไปในห้องน้ำ ใช้น้ำแล้วเหลือไว้นิดหนึ่ง เมื่อพระวินัยธรเข้าไปเจอน้ำเหลือไว้ จึงได้ตำหนิพระธรรมธร ตัวพระธรรมธรเองก็ได้ยอมรับผิดต่อพฤติกรรมนั้น แต่พระวินัยกลับนำเรื่องเพียงเล็กน้อยนี้เป็นพูดกับอันเตวาสิกของตนว่า พระธรรมธรขนาดทำผิดแล้วยังไม่รู้สึกตัวอีก ต่อมาอันเดวาสิกของพระธรรมธรก็ได้พูดถากถาง ทำนองเดียวกันกับอันเดวาสิกของพระธรรมธร ว่าอาจารย์ของพวกท่านทำผิดแล้วยังไม่รู้อีก น่าละอายนัก ฝ่ายลูกศิษย์ก็นำเรื่องนี้ไป ปรึกษากับพระธรรมธร พระธรรมธรได้ฟังดังนั้น จึงพูดว่าทำไมพระวินัยธรจึงพูดอย่างนี้ เราทำผิดกฎก็ยอมรับผิดและแสดงอาบัติไปแล้ว ไฉนจึงพูดกลับกลอกเช่นนี้เล่าจึงพูดกับอันเตวาสิกว่า พระวินัยธรพูดเท็จและทั้งสองฝ่ายก็ได้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุเพียงเล็กน้อยเอง เมื่อไม่สามารถจะระงับกันได้ พระพุทธเจ้าได้แสดงเหตุของการแตกแยก และคุณของความสามัคคี แต่ก็หาเชื่อต่อพระพุทธเจ้าไม่ ซ้ำยังแสดงคำพูดที่ไม่เหมาะสมว่า ขอให้พระพุทธเจ้าอยู่เฉยอย่ามายุ่ง พระพุทธองค์เห็นว่าไม่สามารถจะระงับได้ จึงส่งพระโมคคัลลานะ ไปช่วยระงับ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ทำให้พระพุทธองค์เกิดความเบื่อหน่ายระอาใจต่อเหตุการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง แม้ชาวบ้านเองก็แตกเป็น ๒ ฝ่ายตามพระที่ตนเองนับถือ ส่วนพุทธศาสนิกชนที่มีศีลก็ระอาพากันคว่ำบาตร ไม่ให้การบำรุงพระสงฆ์เหล่านั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง ฝ่ายพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จไปอยู่ ณ ป่าได้มีช้างปาริไลยกะและลิงคอยทำการอุปัฏฐาก มีความพระเกษมสำราญในการอยู่คนเดียว จากเหตุการณ์นี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงพฤติกรรมของพระ ๒ ฝ่ายในขณะนั้น ไม่เชื่อฟังแม้กระทั้งพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจึงได้สร้างพระปางนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงการแตกสามัคคี การทะเลาะวิวาทกัน
- สัพพาสีวะชาตีนัง ทิพพะมันตาทะคัง วิยะ ยันนาเสติ วิสังโฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
- อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณิณัง สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะเส ฯ
สวดวันละ 12 จบ จะมีความเจริญสุขสวัสดี ผู้ที่เกิดวันราหู หรือวันพุธกลางคืน ควรใช้ของประดับตัวและบ้านเรือนเป็นสีเมฆหมอก สีเทา หรือสีดำหลัว ส่วนสีรองๆ ลงมา คือ สีแดง สีขาวนวล สีกรมท่า สีน้ำเงินแก่ พึงเว้นสีเหลือง
เลือกของใส่บาตรวันพุธ (กลางคืน)
- อาหารคาว : ของหมักดอง ผักกาดดองผัดไข่ อาหารกระป๋อง แกงใบยอ หมูยอ แหนม ไข่เยี่ยวม้า ห่อหมก
- อาหารหวาน : ข้าวหมาก ขนมเปียกปูนดำ เฉาก๊วย ข้าวเหนียวดำ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ผลไม้หัวโตๆ ทุเรียน
- ของถวายพระ : พัดลม เทปธรรมะ ยาแก้โรคลม ยาหอม
- ทำทาน : มูลนิธิหรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับยาเสพติด
- พฤติกรรม : เลิกบุหรี่ เลิกดื่มหรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เลิกการพนัน เลิกทำตัวเหลวไหล เลิกเที่ยวกลางคืน เลิกยาเสพติดทุกชนิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น