ห่างจากกรุงเทพเมืองฟ้าอมร 258 กิโลโดยประมาณ ลงใต้ผ่านหัวหินถิ่นมีหอย ถ้ำพระยานครอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตรงหาดแหลมศาลา แต่เนื่องจากไม่มีถนนตัดเข้าถึง ทำให้ผู้ที่จะมาถ้ำพระยานครต้องไปเริ่มต้นจุดสตาร์ทที่หาดบ้านบางปู ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน แล้วนั่งเรือลุยทะเลเลาะภูเขาราวๆ 530 เมตร ไปขึ้นฝั่งที่หาดแหลมศาลา หรือถ้าใครมั่นใจในความฟิตของตัวเอง ก็ไม่ต้องเปลืองค่าเรือครับ เพราะสามารถเดินข้ามเขาจากหาดบ้านบางปูไปยังหาดแหลมศาลาได้ ระยะทาง 1 กิโลนิดๆ พอให้ได้หอบ (หรือหืด) กัน
สำหรับคนที่เลือกขึ้นเรือก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะแม้จะไม่เปียกเหงื่อ แต่เตรียมใจเปียกเลนไว้ได้เลย เพราะหาดบ้านบางปูนั้นชายหาดตื้น ทำให้ต้องเดินย่ำทะเลลุยเลนเพื่อไปขึ้นเรือ และเมื่ออ้อมเขาไปขึ้นหาดแหลมศาลา ก็ต้องลุยเลนย่ำทะเลขึ้นหาดอีกครั้ง
บนหาดแหลมศาลามีบริการที่พักและร้านอาหารของอุทยานฯ ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยวครับ จะเลือกเติมพลังกันก่อนขึ้นเขาหรือพักเหนื่อยทอดใจไปกับทิวสนก็ตามแต่สะดวก ระหว่างนี้ จะเล่าเกร็ดสั้นๆ ถึงที่มาของถ้ำนี้ให้ฟังกันเพลินๆ
ถ้ำพระยานครตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ คือ พระยานคร เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 คราวนั้นท่านพระยาฯ ล่องเรือผ่านมาทางเขาสามร้อยยอด เจอพายุใหญ่จนต้องแวะจอดพักเรือหลบพายุที่ชายหาดแหลมศาลานี้หลายวัน ซึ่งบริเวณทางขึ้นเขา จะพบบ่อน้ำเก่าที่ท่านขุดไว้ใช้ดื่ม เรียกว่าบ่อพระยานคร
พักเหนื่อยเติมพลังกันเสร็จแล้ว ก็ขึ้นเขากันดีกว่า ตรงปากทางขึ้นเขาคุณอาจประหลาดใจ ที่เห็นชาวบ้านมากางเสื่อบริการนวดคลายเส้น ทั้งๆ ที่ป้ายปากทางระบุว่า ทางขึ้นเขาเป็นระยะทางสั้นๆ แค่ 430 เมตรเท่านั้น แต่เชื่อเถอะว่า จะเป็น 430 เมตรที่ยาวนานที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว เพราะทางขึ้นเขานั้นเป็นแง่งหินและทางลาดชัน ไม่มีบันไดครับ งานนี้วัดกันที่กล้ามเนื้อต้นขาและข้อเข่ากันโดยเฉพาะ
ระหว่างทางมีจุดชมวิวและจุดพักเป็นจุดๆ ให้ได้นั่งพักเหนื่อยชมวิวมุมสูงกันพอให้ใจชื้นขึ้นบ้าง พักเหนื่อยแล้วแข็งใจอีกนิดก็จะถึงทางลงถ้ำ แต่อย่าชะล่าใจนะ เพราะทางยังคงเป็นแง่งหินชัน แล้วคุณจะพบว่า การลงเขาอันตรายกว่าการขึ้นเขา
อากาศในถ้ำเย็นสบาย ระดะงามด้วยหินงอกหินย้อย บางจุดหินย้อนหยดแปลกพิสดารดูคล้ายน้ำตก จนตั้งชื่อจุดว่า น้ำตกแห้ง บางจุดเป็นปล่องสูงเปิดรับแสงแดดที่สาดส่องลงมาฉาบทาผนังถ้ำเป็นประกายสวยงาม เดินต่อไปอีกสักพัก ก็จะถึงพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ซึ่งเป็นปลายทาง
เชื่อว่าผู้ที่มาถ้ำพระยานครจะต้องตื่นตาตะลึงใจกับภาพพระที่นั่งพลับพลาแบบจัตุรมุขหลังย่อมๆ กว้าง 2.55 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 2.55 เมตร บนเนินดินในปล่องถ้ำสูงชะลูด ที่ปากปล่องเปิดโล่งให้ลำแดดแผดส่องลงมาเป็นลำสวยสว่าง ณ จุดนั้น ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจะหายไปเป็นปลิดทิ้ง แม้การเดินทางจะแสนสาหัสและมืดสลัวตลอดเส้น แต่เมื่ออดทนก้าวฝ่า สุดท้ายเราย่อมพบแสงสว่างอันเรืองรอง ให้ความรู้สึกเหมือนบทกวีของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในวรรคที่ว่า “ในผาทึบมีถ้ำทอง” อย่างไรอย่างนั้น
ความสวยงามของพระที่นั่งภายในถ้ำนี้ จับใจใครต่อใครที่ได้มาเยือน จนถูกเลือกให้เป็นดวงตราประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนอกจากองค์พระที่นั่งแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีจุดหินงอกหินย้อยรูปลักษณ์แปลกตามากมายให้ได้เดินชมกันอีกด้วย ได้มาถ้ำพระยานครแล้ว หลายคนอาจไม่โต้แย้งถึงความคุ้มค่าของการมาเยือน แต่ก็เชื่อเหมือนกันว่า คงมีหลายคนนิยามทริปนี้ว่าเป็นทริปทรมานสังขาร เพราะมีทั้งขึ้นเขา ลงเขา เข้าถ้ำ เข้าถ้ำเสร็จก็ปีนกลับขึ้นเขา แล้วก็ลงเขา ย่ำหาด โดยรวมแล้วเรียกเหงื่อได้หลายแกลลอน
แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อมาตลอดว่า ทริปเที่ยวแบบทรมานสังขาร ย่อมต้องให้อะไรบางอย่างที่การเที่ยวแบบหรูหราสบายๆ ให้ไม่ได้ อดรู้สึกไม่ได้ว่า การขึ้นเขา ลงเขา เข้าถ้ำ ในแง่หนึ่งก็เหมือนชีวิตที่มีขึ้นก็ต้องมีลง และแม้สุดท้ายปลายทางของภูเขาคือ ถ้ำทอง แต่ปลายทางของชีวิตกลับไม่ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น เรายังคงต้องกลับออกจากถ้ำ พาชีวิตขึ้นๆ ลงๆ อีกครั้ง และอีกครั้ง
เชื่อว่าผู้มาเยือนถ้ำพระยานครทุกคนคงรู้สึกได้ ว่าสาระสำคัญของการขึ้นเขา ไม่ได้จำเพาะอยู่เฉพาะการขึ้นหรือการลง ในเมื่อทั้งการขึ้นและการลงต่างสำคัญเท่าๆ กัน และก็ไม่ได้อยู่ที่ความเร็ว แต่อยู่ที่การประคองชีวิตไม่ให้กลิ้งตกเขาไปเสียก่อน สุดท้ายหากยังมั่นคงในเส้นทางเดิม เราย่อมพบปลายทางของคำตอบแห่งชีวิต
กลับมาถึงหาดแหลมศาลา แล้วมองย้อนกลับไป ภูเขายังคงตระหง่าน ธรรมชาติยังคงยิ่งใหญ่ และมนุษย์ยังคงมีข้อจำกัดอีกมากมายให้ตระหนักรู้ไม่รู้จบ
อย่างน้อยที่สุดสำหรับชาวอุทยานฯ ก็คือ จะขนน้ำแข็งอย่างไร ไม่ให้ละลายระหว่างทางมากเกินไป…ผมจะได้ซื้อน้ำได้ถูกลงหน่อย
แหล่งที่มา เว็บไซต์ GreenscapeASIA.com By natcha On April 17, 201
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น