วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

คิดเรื่องเกษียณ...อิสรภาพทางการเงิน

          มีการสัมมนาอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งที่จริงจัดขึ้นมานานพอสมควร แต่เมื่อลองนำมาฟัง ปรากฏว่า เรื่องแบบนี้แหละเป็นเรื่องที่ฟังเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีคำว่าล้าสมัยหรือเชย นั่นก็คือ เรื่องของการสร้างอิสรภาพทางการเงิน

          เมื่อลองฟังดูแล้ว เห็นว่าน่าสนใจ ก็เลยขออนุญาตเลือกบางช่วงบางตอนมานำเสนอ กลายเป็นจากผู้ฟังสู่ผู้อ่าน จากภาพและเสียงสู่ตัวหนังสือ

          ช่วงแรกของการพูดคุย ประเด็นที่ให้น้ำหนักอยู่ที่ความหมายของคำว่าอิสรภาพทางการเงิน” ซึ่งคุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ บอกว่า คำว่า อิสรภาพทางการเงิน หมายถึงไม่มีหนี้สิน และมีทรัพย์สินเงินทองที่สามารถหาผลประโยชน์ เลี้ยงตัวได้ โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงาน

          “บางคนอาจจะมีอิสรภาพตั้งแต่ซื้อคอนโดฯ ให้เช่า มีรายได้เดือนละ 8 หมื่นบาท โดยในแต่ละเดือนมีค่าใช้จ่าย 5 หมื่นบาท แบบนี้ก็ถือว่า มีอิสรภาพทางการเงินแล้ว เวลามองตรงนี้ ต้องไม่คิดว่า จะเอาเงินต้นมาใช้ ถ้าดอกเบี้ยที่ได้รับเพียงพอกับการใช้จ่าย ก็ถือว่ามีอิสรภาพทางการเงินแล้ว แต่ถ้าเอาเงินต้นมาใช้ด้วย อันนี้เท่ากับว่า อิสรภาพอาจจะสั้นไปนิดนึง คำว่าอิสรภาพคือ เราต้องดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องให้ใครมาดูแล มาเลี้ยงดูเรา”

          ส่วน คุณนิทิต พุกกะณะสุต หนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นเวทีสัมมนาวันนั้นด้วย บอกว่า คำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” คือ ไม่โดนควบคุม ไม่ต้องพึ่งพาใคร และหมายถึงการที่เรามีหลักประกันทางการเงินที่มั่นคง เพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้สมควรตามอัตภาพ เพราะแต่ละครอบครัวก็มีสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน ต้องไม่พึ่งพาใครมากเกินไป และไม่ต้องกังวลหวาดผวากับเรื่องเงินๆ ทองๆ ว่าจะไม่เพียงพอกับการใช้สอยในอนาคต

          “ถ้ามีรายได้จากเงินเดือนบวกรายได้จากทรัพย์สิน แล้วมากกว่ารายจ่าย ก็ถือว่า ยังไม่มีฟรีดอม เพราะฟรีดอมคือ ไม่ต้องทำงาน แต่ถ้าเรามีรายได้จากทรัพย์สินที่เราเข้าไปลงทุน แล้วสร้างรายได้มากกว่ารายจ่าย ทำให้เราอยู่ได้ตามสมควรตามอัตภาพ อันนี้ถึงเรียกว่าฟรีดอม”

          คุณนิทิต บอกด้วยว่า รายได้จากทรัพย์สินที่ไปลงทุนก็มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝากแบงก์กินดอกเบี้ย การไปลงทุนในพันธบัตร หรือลงทุนในหุ้น บางคนก็อาจจะมากกว่านั้น เช่น การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เหล่านี้เป็นรายได้ที่ไม่ต้องทำงาน

          “เขาถึงบอกว่า “คนรวย” ให้ดูที่ไม่ต้องทำงานก็อยู่ได้อย่างสบาย แต่ก็อย่าลืมว่ารายจ่ายเพื่อให้อยู่ได้อย่างสบาย ก็ไม่เท่ากัน”

          เมื่อรู้ความหมายของคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” แล้ว คุณวิวรรณ บอกว่า สิ่งที่ทำให้ต้องตระหนักว่า ทำไมต้องเตรียมความพร้อมกับชีวิตในอนาคตของตัวเองมีอยู่ 4 เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง

          ประการแรก คือ เมื่อคนมีอายุยืนยาวขึ้น จากที่ในอดีตผู้คนมีชีวิตอยู่เกษียณไม่กี่ปีก็จากไป แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยี ทำให้อายุเฉลี่ยมากขึ้น และหลายคนอาจจะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณอีกถึง 30 ปี ดังนั้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ที่มากขึ้นโดยไม่มีรายได้มารองรับ

          ประการที่สอง เพราะรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนที่ลูกๆ สามารถดูแลพ่อแม่ได้ จนมีการบอกกันว่า หลักประกันในการเกษียณที่ดีที่สุด คือ มีลูกหลายๆ คน แต่ตอนนี้ลูกก็เอาตัวไม่รอด ไม่สามารถดูแลพ่อแม่ได้ และหลายๆ ครอบครัวก็ไม่มีลูก พ่อแม่ก็ต้องเตรียมพร้อมในการดูแลตัวเอง

           ประการที่ 3 นั่นคือ  ค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลที่มากขึ้น เพราะโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก การเตรียมพร้อมสำหรับเกษียณก็ต้องเผื่อในส่วนนี้ไว้ด้วย

         สุดท้าย คือ ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เพราะถ้าสังเกตให้ดี เมื่อก่อนคนที่พ้นจากวัยเกษียณไปแล้ว จะประหยัดมาก ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่กล้าใช้ ไม่ฟุ่มเฟือย แต่แนวคิดสมัยใหม่ ก็คือ ระดับความเป็นอยู่จะต้องไม่ลดลงหลังเกษียณ รายจ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าใช้จ่ายในการไปทำงานอาจจะลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ค่าอาหาร แต่ความเป็นอยู่อื่นๆ จะต้องไม่ลดลง ขณะที่รายจ่ายส่วนอื่นๆ ก็เพิ่ม และเราก็ไม่ได้มีรายได้แล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนเราเกษียณมีเงิน 2 ล้านบาทก็อยู่ได้แล้ว ดอกเบี้ย 10% ต่อปี ก็รับปีละ 2 แสนบาท เฉลี่ยมีรายได้ดอกเบี้ยเดือนละหมื่นกว่าบาทก็อยู่ได้แล้ว แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ดอกเบี้ยก็ไม่ได้ ดอกเบี้ยอยู่แค่ 0.5% ดังนั้น ในโลกปัจจุบันนี้ ถ้าจะอยู่อย่างสบายต้องมีเงินหลายสิบล้านบาท”

          หลายคนที่ได้ยินคำว่า “หลายสิบล้าน” อาจจะถอนหายใจดังเฮือก และคิดว่า ชีวิตนี้คงไปไม่ถึงจุดนั้นแน่ๆ เพราะทุกวันนี้ ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง มีประโยคหนึ่งของคุณวิวรรณที่น่าสนใจมากนั่นก็คือ “ถ้าจะคิดเรื่องเกษียณ ต้องคิดตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน”

          “จริงๆ นะคะ ตัวเองก็คิดจะเกษียณมาตั้งแต่ทำงานวันแรกแล้ว เพราะเราต้องเตรียมพร้อมสำหรับวันข้างหน้า แต่สำหรับคนที่ไม่ได้คิด ไม่ได้เริ่ม ไม่ได้ทำ ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะสายเกินไป แต่ต้องเริ่ม” คุณวิวรรณย้ำ

          เหรียญมีสองด้าน ชีวิตก็มีสองด้าน หรืออาจจะมากกว่าสองด้าน ดังนั้น หากว่าเราไม่สามารถหรือไม่มีโอกาสที่จะสะสมเงินหลายสิบล้านเพื่อเตรียมความพร้อมในวันเกษียณ อีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดแรงกดดันในการใช้ชีวิต ก็คือ ลดมาตรฐานการใช้ชีวิตที่ติดอยู่กับคำว่า “ต้องเหมือนเดิม” เพราะไม่จำเป็นที่ทุกอย่างจะต้องเหมือนเดิม ในวันที่มันไม่เหมือนเดิม

แหล่งที่มา   เว็บไซต์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...