วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

"ผักกลับหัว" นวัตกรรมใหม่ของการปลูกผัก

“การปลูกพืชกลับหัว” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร และผู้ที่สนใจปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งวิธีดังกล่าวพบว่าพืชมีการเจริญเติบโตได้ดี และยังนำพืชที่ปลูกแบบกลับหัว มาตกแต่งจัดสวนภายในบ้าน หรือสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดความแปลกแก่ผู้พบเห็น ในต่างประเทศทำเป็นชุดผลิตภัณฑ์การปลูกผักกลับหัวแบบสำเร็จรูปออกมาขาย บรรจุกล่องสวยงาม เพียงผู้ซื้อนำชุดทดลองปลูกที่มีอยู่ในกล่องมารดน้ำดูแลตามคำแนะนำ ก็จะได้ผักกลับหัวปลูกไว้ที่บ้านหรือประดับตามสวน

ดร.สิริวัฒน์  สาครวาสี  สาขาพืชผัก ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร   มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่  อธิบายวิธีการปลูกพืชกลับหัวว่า เริ่มจากการนำวัสดุปลูก เช่น ขุยมะพร้าวหรือดิน หรือหากต้องการปลูกพืชที่มีขนาดใหญ่ เช่น มะเขือเทศ ควรเลือกใช้วัสดุปลูกที่มีน้ำหนักเบา เช่น ขุยมะพร้าว ใส่วัสดุปลูกลงในกระถางให้เต็ม แล้วนำแผ่นกระเบื้องสี่เหลี่ยมมาปิดด้านบนของกระถาง ใช้นิ้วหนีบกระเบื้องไว้กับกระถางเพื่อป้องกันวัสดุปลูกร่วงหล่นแล้วคว่ำกระถางเพื่อให้ก้นกระถางหันขึ้น นำต้นกล้าพืชที่เพาะไว้ เช่น มะเขือเทศ, กะเพรา, โหระพา, พริก ฯลฯ ลงปลูกในรูก้นกระถาง รดน้ำให้ปุ๋ยตามปกติ


ในกรณีที่ปลูกในขุยมะพร้าวควรรดด้วยสารละลายปุ๋ย รอจนต้นโตสูงอย่างน้อย 1 ฟุตแล้วจึงพลิกกระถางเพื่อให้ต้นพืชกลับหัว เจาะรูที่ขอบกระถางสำหรับร้อยลวดแล้วจึงนำไปแขวนที่โรงเรือนหรือชายคาบ้าน โดยให้โดนแสงแดด นอกจากนี้ด้านบนของกระถางยังสามารถปลูกผักขนาดเล็กชนิดอื่น เช่น ผักสลัดต่างๆ


ข้อดีในการปลูกพืชกลับหัว การปลูกพืชกลับหัวช่วยทำให้น้ำและธาตุอาหารไหลไปเลี้ยงส่วนยอดได้มีประสิทธิภาพมากกว่าปกติและสามารถบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักของการลำเลียงน้ำและธาตุอาหารอันมีสาเหตุมาจากการเกิดช่องว่างในไซเลมได้ เพราะในสภาพที่ต้นพืชกลับหัวแรงโน้มถ่วงจะสามารถช่วยผลักน้ำให้ไหลลงไปเลี้ยงส่วนยอด นอกจากนี้การปลูกพืชแบบกลับหัวยังช่วยลดปัญหาเรื่องวัชพืชและการเข้าทำลายของโรคและแมลงได้ดีอีกด้วย รวมถึงในพื้นที่ปลูกที่จำกัด


สำหรับบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม การปลูกผักกลับหัวนำไปแขวนด้านบน ส่วนพื้นที่ด้านล่างยังใช้ประโยชน์ได้อีก นอกจากจะช่วยประหยัดพื้นที่ปลูกแล้ว ยังสามารถมีผักต่าง ๆ เก็บไว้ทานด้วยฝีมือตัวเอง กระถางผักกลับหัวยังเป็นผักประดับบ้านหรือสวนได้สวยและแปลกที่ได้พบเห็นอีกด้วย

แหล่งที่มา   เว็บไซต์เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2555 เวลา 00:00 น.

2 ความคิดเห็น:

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...