วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

พิพิธภัณฑ์ดีๆ ของบ้านเรามาชวนให้ไปกันอีกแล้ว  ที่จริงจะเรียกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ถูกนักเพราะที่นี่เขาเรียกตัวเองว่าเป็น นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เป็นนิทรรศการที่นำเสนอของดีของเด่นแห่งยุครัตนโกสินทร์ในรูปแบบสมัยใหม่ทีสวยงาม น่าตื่นตา และดูสนุกไปพร้อมกัน  ที่สำคัญไปชมแล้วรับรองจะเดินยืดอกออกมาด้วยความภาคภูมิใจในความเป็นไทยอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะใครที่ต้องพาเพื่อนต่างชาติไปเที่ยววัดชมวังในย่านเกาะรัตนโกสินทร์  ไม่ควรพลาดโปรแกรมมาที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์แห่งนี้กันด้วย

ที่นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เขามีสโลแกนว่า Experience the best of Rattanakosin in a day  แปลเป็นไทยได้ว่า "คุณค่าแห่งยุคสมัย สัมผัสได้ในหนึ่งวัน"
แวะมาเที่ยวที่นี่กันได้ไม่ยาก อยู่ริมถนนราชดำเนินกลางติดกันกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ หรือที่หลายคนจะคุ้นเคยเรียกพิกัดนี้กันว่าเฉลิมไทยเก่า  ตรงนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เท่ากับเป็นปากประตูสู่เกาะรัตนโกสินทร์ก็ว่าได้

เจ้าของที่นี่ก็คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่กำลังมีโครงการปรับปรุงอาคารสองฝั่งถนนราชดำเนินในย่านนี้ แล้วก็เริ่มด้วยการทำศูนย์เรียนรู้ดี ๆ อย่าง นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ที่เริ่มเปิดให้บริการกันไปเมื่อเดือนมีนาคม 2553 นี่เอง

เข้ามาชมกันที่นี่มีค่าเข้าชม 100 บาท ราคาเท่ากันทั้งคนไทยคนต่างชาติ
 
บางคนอาจจะบ่นว่าค่าเข้าชมแพงจัง  ก็ต้องเล่าว่าที่นี่ลงทุนกันเป็นหลักร้อยล้านบาท  เรียกว่างานนี้เก็บค่าเข้าชมก็เพียงแค่ให้มีรายได้เข้ามาชดเชยค่าใช้จ่ายบ้าง  ไม่ได้คิดไปถึงจะให้คืนทุนที่ลงไป
 
ข่าวดีคือเขาให้เข้าชมฟรีกันสำหรับคนหลายกลุ่มเลย 
  1. เริ่มตั้งแต่เด็กสูงไม่เกิน 120 ซม. (วัดได้จากเคาน์เตอร์ขายบัตรเข้าชมได้เลย) 
  2. แต่ถ้าโตกว่านั้น (ข้อ 1) จะโชว์บัตรประจำตัวนักเรียน นักศึกษา (ไม่เกิน ป.ตรี) หรือแต่งเครื่องแบบมาก็ได้ 
  3. เลยจากนั้นไปก็ข้ามไปกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป 
  4. แล้วก็เป็นผู้พิการ
  5. พระภิกษุหรือนักบวชในศาสนาอื่น 
ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นนี้ สามารถเข้าชมได้ฟรีไม่ต้องเสียสตางค์
 
ส่วนเส้นทางเดินชมเขาจะแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง
 
เส้นทางที่ 1
ก็คือ ห้องจัดแสดง 1-7  ส่วนนี้หลังจากห้องแรก ๆ แล้วห้องต่อไปก็เดินชมไปตามอัธยาศัยได้  ปกติก็ใช้เวลาชมประมาณ 2 ชม. หรือถ้าเดินชมผ่าน ๆ อาจจะเร็วกว่านั้นได้
 
ส่วนเส้นทางที่ 2
คือห้องจัดแสดง 8 และ 9 ที่เพิ่งเปิดเพิ่มเมื่อปลายเดือน มิ.ย. 54 นี้  แต่การชมจะต้องไปเป็นกลุ่มด้วยกันตลอด  แล้วก็จะใช้เวลาชมรวมกัน 2 ชม. พอดิบพอดี
 
ตอนมาซื้อบัตรเขาชม เขาจะถามว่าจะชมในเส้นทางไหน  ใครเคยมาแล้วจะเลือกเดินเฉพาะเส้นทาง 2 ที่เพิ่งเปิดเพิ่มก็ได้  หรือจะเลือกเดินทั้ง 2 เส้นทางไปในคราวเดียวกันก็เสีย 100 บาทเท่ากัน  แต่ต้องเผื่อเวลาไว้เยอะๆ เลยไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง
ซื้อบัตรแล้วใช่ว่าจะลุยกันได้เลย  ที่นี่จะจัดให้เข้าชมกันเป็นรอบ รอบละไม่เกิน 23 คน แล้วก็มีรอบออกกันทุก 20 นาที  ระหว่างรออาจะแวะไปที่ห้องสมุดหรือชมนิทรรศการหมุนเวียนได้

เอาล่ะ  มาเดินชมในเส้นทางที่ 1 ด้วยกันก่อนเลย
เริ่มต้นด้วยการเดินผ่านโถงแสดงเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์
นิทรรศการที่นี่จะแบ่งเป็นห้องๆ อย่างที่เล่ากันไปว่าตอนนี้เปิดให้ชมกันแล้ว 7 ห้อง
ห้องแรกคือ รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ ที่จัดเหมือนเป็นห้องฉายหนังเล็กๆ
ระหว่างรอรอบก่อนหน้า  เจ้าหน้าที่จะชวนให้มารอกันในห้อง ดื่มด่ำย่านชุมชน
 
ห้องนี้จะมืดสักนิด เพราะเขาจัดให้เป็นจอฉายบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนเก่าแก่ให้ได้ชมกัน

จะได้มารู้กันว่าที่เรียกว่า บ้านดินสอ  นั้นไม่ใช่ย่านขายเครื่องเขียนแบบ B2S สมัยนี้  แต่เป็นย่านที่ทำ "ดินสอพอง" ขายกัน  หรืออย่างบ้านดอกไม้ ใครที่นึกไปถึงตลาดดอกไม้สวย ๆ แบบเดียวกับที่ปากคลองตลาด  ก็ต้องบอกว่าย่านนี้เขาขาย "ดอกไม้ไฟ" กันต่างหาก
ได้เวลาเจ้าหน้าที่ก็จะมาพามาที่ห้องรัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ มาชมสื่อผสม 4 มิติ  ส่วนจะ 4 มิติยังไงต้องอุบไว้ก่อน  งานนี้้ต้องให้ไปลองสัมผัสกันดูเอง

ส่วนเรื่องราวก็จะเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านจากยุคธนบุรีมาสู่ยุครัตนโกสินทร์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์
 
"ตั้งใจจะอุปถัมภก  ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมา  รักษาประชาชนและมนตรี"
พระราชนิพนธ์เรื่อง นิราศท่าดินแดง ของรัชกาลที่ 1 คราวที่นำทัพออกไปรบกับพม่าที่กาญจนบุรี
รัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์เมื่อ 6 เม.ย. 2325  ถัดจากนั้นอีกแค่ 2 อาทิตย์คือ วันที่ 21 เม.ย. 2325  ก็มีพิธีตั้งเสาหลักเมืองบนอีกฝั่งแม่น้ำตรงข้ามกับกรุงธนบุรีเดิม
 
แสดงให้เห็นว่าน่าจะทรงมีแนวคิดจะย้ายเมืองหลวงเพื่อประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการป้องกันพระนครหากมีศึกมาประชิดไว้อยู่ก่อนแล้ว
ถัดมาเป็นห้อง เกียรติยศแผ่นดินสยาม
จะมีที่ไหนจะอวดถึงเกียรติยศของแผ่นดินไปได้เท่ากับ พระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว  ที่ห้องนี้ก็เลยจำลองบริเวณพระบรมมหาราชวังทั้งหมดมาให้ชมกัน แล้วยังฉายวิดีทัศน์ประกอบให้ความรู้ว่า อาณาเขตของพระบรมมหาราชวังจะประกอบไปด้วยชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน
ที่นี่เราจะมองเห็นอาณาบริเวณทั้งหมดของพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว
 
อาคารยอดปราสาทอย่างที่เห็น เป็นประเพณีแต่โบราณมาแล้วว่าจะสร้างได้เฉพาะในพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์เท่านั้น
 
ซุ้มประตูหน้าต่างสวยงามที่ถอดแบบมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
 
ความที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบอ่านป้ายข้อมูล  ที่นี่เขาก็เลยมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่แต่ละห้องจัดแสดง คอยอธิบาย คอยชี้ชวนให้ชมโน้นนี่ รวมทั้งตอบคำถามข้อสงสัย  อย่างใครเคยได้ยินกว่าเขามีพิธียกช่อฟ้า ก็ลองถามดูได้เลยว่า ช่อฟ้า คือส่วนไหนกัน

ถ้าใครพาเพื่อนต่างชาติมา นอกจากป้ายข้อมูลที่มีเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วย เขายังจัดเจ้าหน้าที่ที่คล่องภาษามาเดินตามบรรยายให้  หรือจะใช้บริการเครื่องแปลภาษาที่มีให้ยืมใช้กันได้ฟรีด้วย
มาต่อกันที่ส่วนของวัดพระแก้ว
 
เขามีเล่าถึงประวัติพระแก้วมรกต
 
แล้วยังโชว์องค์พระแก้วมรกตจำลองในเครื่องทรงแต่ละฤดู ที่จะหมุนเวียนขึ้นมาให้ชมครบทั้ง 3 ฤดู
 
ปกติไปชมพระบรมมหาราชวังของจริง จะเข้าได้เฉพาะส่วนของชั้นนอกกับชั้นกลาง  แต่ที่นี่เขาเปิดโอกาสให้ได้เข้าไปยลบรรยากาศในเขตชั้นในกันด้วย

ด้วยการจำลองประตูสนามราชกิจมาให้เราได้ลองลอดผ่านเข้าไป
อ้อ ระวังธรณีประตูกันด้วย  ชาววังเขาถือว่าตามธรณีประตูวังมีเทวดาสถิตย์อยู่ เพราะงั้นระวังอย่าเหยียบเข้าเชียว

เขตพระราชฐานชั้นในจะไม่ให้ผู้ชายเข้าไป เพราะงั้นแม้แต่คนที่ทำหน้าที่ รปภ. ก็ยังใช้ผู้หญิงที่มีชื่อเรียกว่า "โขลน"
ได้โอกาสเข้ามาแล้ว ไปแอบดูสาวชาววังซ้อมรำกันดีกว่า

สมัยโบราณเขาจะนิยมส่งลูกหลานผู้หญิงเข้าไปถวายตัวรับใช้เจ้านายผู้หญิงในวัง  เพราะจะได้รับการอบรมสั่งสอนกิริยามารยาทและงานฝีมืออย่างชาววัง

จะว่าไปก็เหมือนได้ส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนประจำ  เพราะในยุคนั้นยังไม่มีโรงเรียนกันเป็นเรื่องเป็นราว  ยิ่งโรงเรียนสำหรับผู้หญิงแล้วก็เพิ่งจะมามีในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง
ห้องถัดไปน่าสนุกมาก  เริ่มด้วยการฉายการละเล่นสารพัดรูปแบบผ่านจอ 360 องศารอบตัว

ห้องนี้ชื่อ เรืองนามมหรสพศิลป์ เป็นเรื่องราวระบำ รำ เต้น ที่กลายมาเป็นมหรสพประจำชาติไทย

หนังใหญ่ มหรสพชั้นสูงที่เป็นการแสดงที่รวมงานศิลปะหลากหลายแขนงไว้ด้วยกัน  แล้วยังมีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว

ว่ากันว่าหนังใหญ่เป็นต้นกำเนิดของมหรสพอีกชนิดที่เรียกว่า โขน

ถ้าใครอยากพาแขกต่างชาติไปชมการแสดงของจริงกัน  เขามีจัดแสดงเป็นประจำทุกวันศุกร์และวันเสาร์อยู่ที่ ศาลาเฉลิมกรุง รายละเอียดลองคลิกไปดูที่ www.salachalermkrung.com
ขอยกตัวอย่างเพียงเส้นทางเดียว.... อยากทราบลองไปเที่ยวชมเพิ่มเติมได้

กิจกรรม ณ ขณะนี้ที่จัด
  1. วันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕ ถึง วันอาทิตย์ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น.  กิจกรรมการสาธิต การทำดอกไม้สด
  2. การแสดง ๔ ภาค วันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕  รอบ ๑๓.๐๐ น., ๑๕.๐๐ น. รอบ ๑๔.๐๐ น., ๑๗.๐๐ น.
     เหนือ ฟ้อนเล็บ เหนือ สาวไหม ใต้ ตะลีกีปัส ใต้ ตะลีบุหงา กลาง รำสีนวล กลาง วรเชษฐ์ อีสาน โปงลาง อีสาน กะโป๋
  3. วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๕  รอบ ๑๓.๐๐ น., ๑๕.๐๐ น. รอบ ๑๔.๐๐ น., ๑๗.๐๐ น.  เหนือ ฟ้อนวี เหนือ ฟ้อนที
    ใต้ ชัดชาตรี ใต้ ร่อนเร่กลางรำเหมราช กลาง ระบำศรียุธยา อีสาน มวยโบราณ อีสาน กรั๊บแกร๊บ
  4. นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ยังคงหนาแน่นสำหรับผู้ชม ที่เยี่ยมชม งานสงกรานต์ ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์ ณ ห้องโถงอเนกประสงค์ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ พร้อมการสาธิต และการแสดงอีกมากมาย ตลอดถึง ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕ สอบถามรายละเอียดที่ ๐๒-๖๒๑๐๐๔๔ www.nitasrattanakosin.com 
  5. นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ขอเชิญร่วมสนุกกับกิจกรรม Lucky Draw ลุ้นสิทธิ์รับของที่ระลึก ช่วงเทศกาลสงกรานต์ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ 24-29 เมษายน 2555 ณ โถง LED WALL นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
  6. นิทรรศน์รัตนโกสินทร์  “มหัศจรรย์นิทานหลากมิติกับ ครูชีวัน วิสาสะ” — 22 เมษายน เวลา 14:00
 
แหล่งที่มา    เว็บไซต์ thaiweekender.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...