วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

รู้จักศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก อีกหนึ่งศูนย์บำบัดเด็กออทิสซึ่ม

ปัญหาเด็กพิเศษที่มีความผิดปกติในด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นโรคแอลดี ออทิสติก สมาธิสั้น จำเป็นจะต้องได้รับการบำบัดจากนักกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กเหล่านั้นกลับมาปกติให้ได้มากที่สุด ดังนั้น จะเห็นว่ามีการเปิดศูนย์เพื่อฝึกเด็กกลุ่มนี้อยู่ตามโรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชน

แต่เนื่องจากการวิชาชีพนักกิจกรรมบำบัดยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ในขณะเดียวกันกลับพบว่าคนที่มีความผิดปกติในด้านการเรียนรู้กลับเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาจะมีนักกิจกรรมบำบัดที่จบมาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนเข้าสู่สายอาชีพนี้ โดยในปีนี้จะมีนักศึกษามาด้านนี้โดยเฉพาะ 35 คน แต่จำนวนนี้ก็ยังไม่เพียงพอกับผู้ป่วยที่ต้องการเข้ารับการบำบัด และผู้ปกครองของเด็กกลุ่มนี้ยังต้องจ่ายในราคาที่สูงมาก เช่นโรงพยาบาลเอกชน หรือศูนย์ฝึกของเอกชนจะคิดค่าบริการชั่วโมงละ 500-1,000 บาท ขณะที่โรงพยาบาลรัฐบาลคิดค่าบริการชั่วโมงละ 150-300 บาท

ในส่วนของโรงพยาบาลรัฐมีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่จะค่อนข้างเล็กและคับแคบ เพราะห้องที่ใช้ฝึกเด็กกลุ่มนี้ต้องมีอุปกรณ์ในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการของพวกเขา ดังนั้น ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกได้เล็งเห็นความสำคัญของการบำบัดที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น จึงได้สร้างห้องขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์ครบครัน และตกแต่งให้มีสีสันสะดุดตา เหมาะแก่การกระตุ้นเด็กให้ความร่วมมือกับนักบำบัด และคิดค่าบริการชั่วโมงละ 300 บาท ในเวลาราชการ และคิดค่าบริการเพิ่มอีก 80 บาท นอกเวลาราชการ ซึ่งถือว่าราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนทั่วๆ ไป

ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนบรมราชชนนี อยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยมหิดล มีการเปิดรักษาโรคทั่วไปเหมือนกับโรงพยาบาลรัฐแห่งอื่นๆ เปิดบริการมากกว่า 5 ปี มีชื่อเสียงในด้านทันตกรรม เพราะคิดค่าบริการไม่แพง และมีบริการจัดฟันด้วยซึ่งมีคนมารอเข้าคิวจัดฟันจำนวนมาก คิวเร็วที่สุดจึงข้ามไปถึงปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ศูนย์การแพทย์แห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยระบายคนไข้ไม่ให้อัดแน่นอยู่เฉพาะที่โรงพยาบาลศิริราช หรือโรงพยาบาลรามาธิบดีเท่านั้น คนไข้รอบๆ ปริมณฑลก็สามารถเข้ามารักษาที่นี่ได้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเข้าเมือง เพราะที่นี่มีแพทย์เฉพาะทางและโรคทั่วไปอยู่เช่นกัน หากจำเป็นจะต้องผ่าตัดแบบที่ต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์เฉพาะทางจริงๆ ทางศูนย์ก็จะส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐเพื่อทำการรักษาในขั้นต่อไป

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังมีชื่อเสียงในด้านเวชศาสตร์การฟื้นฟู เป็นศูนย์รวมศาสตร์การบำบัด แพทย์หญิงวิภาวี ลักษณากร แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก กล่าวว่า ที่ศูนย์การแพทย์นี้มีความพร้อมในเรื่องของสถานที่และบุคลากรพอสมควร เนื่องจากยังเปิดได้ไม่นาน การจัดสรรห้องต่างๆ จึงค่อนข้างลงตัวและมีขนาดใหญ่กว่าโรงพยาบาลรัฐทั่วไป ดูจากห้องกิจกรรมบำบัดของกลุ่มเด็กพิเศษ ห้องธาราบำบัด และห้องกายภาพบำบัดของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต และข้อเข่าเสื่อมที่ต้องการฟื้นฟู ทางศูนย์จะมีห้องกิจกรรมบำบัดสำหรับฝึกเด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่างๆ ในกลุ่มเด็กพิเศษ สมาธิสั้น แอลดี ออทิสติก เป็นต้น

ที่ผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์มาแล้วเพื่อเข้ารับการฝึกกิจกรรมบำบัด ซึ่งถือว่าเป็นห้องกิจกรรมขนาดใหญ่ และมีความพร้อมระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลรัฐทั่วไปที่จะเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ในอนาคตนี้ทางศูนย์กำลังดำเนินการสร้างห้องฝึกพัฒนาเรื่องการรับสัมผัสครบ 4 ด้าน เพื่อใช้กระตุ้นประสาทสัมผัสที่จะมีกลิ่น มีแสงและเสียงด้วย

กรพินธุ์ การุณพักตร์ นักกิจกรรมบำบัดบอกว่า โดยปกติเวลาที่เราจะกระตุ้นเด็กที่มีพฤติกรรมด้านออทิสซึม ก่อนอื่นต้องดูก่อนว่าเราสามารถที่จะปรับอะไรให้เขาได้บ้างในความผิดปกติ ก่อนอื่นต้องดึงให้เขาเข้ามาอยู่กับสังคมได้ก่อน เพราะทักษะการใช้ภาษาต้องอาศัยการเข้าสังคมเพื่อพัฒนาภาษาที่ต้องสื่อสารกับคนอื่น เพื่อกระตุ้นให้เขามีความสามารถในการใช้ภาษากับคนอื่นได้ดี ส่วนใหญ่ออทิสซึมมีความผิดปกติด้านภาษาและการเข้าสังคม กิจกรรมบำบัดก็มีส่วนช่วยในการฝึกพฤติกรรมเด็กให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ฝึกมากขึ้น ในเรื่องของการฝึกภาษาผ่านการเล่นกิจกรรมบำบัด

กิจกรรมบำบัดของที่นี่ก็จะมีคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก กระตุ้นเด็กพิเศษประเภทต่างๆ หรือห้องบูรณาการประสาทความรู้สึก ในเด็กที่มีความต้องการความรู้สึกพิเศษก็จะมีความผิดปกติในด้านต่างๆ ดังนั้น การจัดแต่งห้องนี้จึงต้องมีกิจกรรมและอุปกรณ์ที่จะช่วยกระตุ้นเด็กที่มีความบกพร่องในด้านต่างๆ

ฉะนั้น ศาสตร์แห่งการบำบัดจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากที่จะช่วยเหลือคน ผู้ที่จะมาประกอบวิชาชีพนี้ได้ต้องใจรักและอดทนอย่างมากทีเดียว

แหล่งที่มา   เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:39:32 น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...