วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

"กินหมูดิบ" อาจถึงตายหรือหูหนวกตลอดชีวิต

สธ.ห่วงประชาชน กินเนื้อหมูฉลองเทศกาลสงกรานต์ ชี้มีอันตราย อาจถึงขั้นเสียชีวิตหรือหูหนวกตลอดชีวิต เหตุติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เผย พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อร้ายที่พะเยา 5 ราย หูหนวกตลอดชีวิต 12 ราย อาหารที่เสี่ยงสูงสุดคือ หลู้ แหนมหมูดิบ ลาบดิบ ให้ทุกจังหวัด
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ คาดว่าประชาชนจะเดินทางกลับไปร่วมฉลองสงกรานต์ที่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นวันหยุดติดต่อกันหลายวัน และอาจมีการประกอบอาหารเลี้ยงฉลองในครอบครัวหรือในหมู่บ้าน อาหารที่ต้องเตือนประชาชน ห้ามรับประทานคือ เนื้อหมูดิบ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคไข้หูดับจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เชื้อนี้มีอันตรายทำให้เสียชีวิตหรือหูหนวกตลอดชีวิตได้ ที่ผ่านมาพบว่าโรคไข้หูดับ มีผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมกินเนื้อหมูดิบหรือเลือดหมูดิบเช่น ลาบ หลู้ที่ปรุงจากเลือดหมู เนื้อหมูสดๆ กระจายในหลายจังหวัด ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะเสี่ยงสุดใน 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ นครพนม สกลนคร อุดรธานี แล ขอนแก่น
      
นายวิทยากล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันโรคนี้ ให้ประชาชนฉลองสงกรานต์อย่างปลอดภัย ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือน ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคไข้หูดับ โดยให้กินเนื้อหมูสุก งดกินเนื้อหมูดิบรวมทั้งเลือดดิบๆด้วย หากหมู่บ้านใดมีการจัดเลี้ยงขอให้จัด อสม. สารวัตรอาหารหมู่บ้านไปให้คำแนะนำด้านสุขอนามัยและการประกอบอาหารที่ถูกต้อง
       
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ตรวจพบในลูกสุกร ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหย่านม เชื้อจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจ เช่นโพรงจมูก น้ำลายหมูและต่อมทอนซิล เชื้อชนิดนี้พบได้ในหมูทั่วไป จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น เมื่อหมูอยู่ในภาวะเครียด เช่นอยู่ในที่แออัด อากาศชื้นหรือหนาวจากฝนตกหนัก น้ำท่วม ภูมิคุ้มกันของหมูจะลดลง เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดทำให้หมูป่วยหรือตาย
      
นพ. ไพจิตร์กล่าวต่อว่า คนจะติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส จากหมู จากการสัมผัสโดยตรง เช่นติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง กินเนื้อหรือเลือดหมูที่ไม่สุก อาการที่พบได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือด บางรายอาจมีอาการมีผื่นขึ้น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง หากรุนแรงจะทำให้เสียชีวิต ส่วนผู้ที่รอดชีวิตอาจมีความพิการหลงเหลือ เช่นหูหนวกทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
      
จากข้อมูลในปี 2553 พบมีรายงานโรคนี้ที่จังหวัดพะเยา จำนวน 31 ราย เป็นชาย 20 ราย ที่เหลือเป็นหญิง อายุเฉลี่ย 53 ปี โดยผู้ป่วย 20 รายมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีก 11 รายติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิต 5 ราย และหูหนวกตลอดชีวิต 12 ราย ผลการสอบสวนโรคพบว่า 22 ราย กินอาหารจากหมูดิบ ได้แก่ หลู้ รองลงมาคือแหนมหมูดิบ และลาบดิบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังกินอาหารไปแล้ว 2 วัน
      
ในการป้องกันโรคไข้หูดับ ขอให้ประชาชนกินอาหารปรุงสุก เนื้อต้องปรุงสุกเสมอ เนื่องจากเชื้อโรคดังกล่าวจะถูกทำลายด้วยความร้อน

แหล่งที่มา     เว็บไซต์หรรษาดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...