วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

มีสิ่งประดิษฐ์...ไม่มีนวัตกรรม

          คำที่ว่า “คนไทยไม่เป็นรองใครในโลก” เชื่อว่าจริง ทีมฟุตบอลเยาวชนก็เคยได้แชมป์โลกมาแล้ว แข่งโอลิมปิกคณิตศาสตร์เอย วิทยาศาสตร์เอย ก็เห็นได้เหรียญทองออกจะบ่อย ประกวดสิ่งประดิษฐ์ก็ได้รางวัลระดับโลกกันมามากมาย... แต่ทำไมนักบอล นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ ที่เก่งๆ เหล่านั้น พอเอาเข้าจริง หายไปไหนหมด? ...

          วันนี้ลองยกเรื่องเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ (Invention) และนวัตกรรม (Innovation)  นักประดิษฐ์ไทยเก่งๆ เยอะ...คิดได้ ประดิษฐ์ได้ แล้วทำได้ดีจนได้รางวัลระดับโลกมาให้เห็นกันบ่อยๆ เสียด้วย...แต่ประดิษฐ์มาแล้ว จะให้เป็นนวัตกรรมได้นั้น ต้องมีคนเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์  นวัตกรรมจึงไม่ใช่เพียงการประดิษฐ์ แต่หากรวมถึงกระบวนการที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย คำถามคือ ใครจะช่วย “นักประดิษฐ์” ทำ “การตลาด”?...ตรงนี้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่เราขาดหายไป

          ประเทศเราพัฒนากันแบบ 1 2 3 4 ...เราเชื่อกันมานานว่า การพัฒนานวัตกรรมต้องเริ่มจาก
  1. ทำวิจัย
  2. พัฒนาผลิตภัณฑ์
  3. สร้างผลิตภัณฑ์ และจึง
  4. นำผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์หรือไปขาย (ทำการตลาด)
          ...ต้องทำไปตามกระบวนการ ทีละขั้น ทีละตอน...เราทำได้ดีจนถึงขั้น 3 คือการสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างได้ดีจนเอาไปประกวดกันได้รางวัล รัฐบาลก็ช่วยส่งเสริมจนได้สิทธิบัตร...แต่มาตกม้าตายที่ขั้น 4 คือไม่รู้จะขายใคร

          ในทางกลับกัน ดูตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีก่อน (2554) เราไม่เห็นว่านักประดิษฐ์พื้นบ้านเขาต้องไปทำวิจัยอะไรกันเลย...

          เขาเห็นคนเป็นห่วงรถกลัวโดนน้ำท่วม ก็เอาพลาสติกมาห่อรถ เขาเห็นรองเท้าบู๊ทใช้ไม่ได้เพราะน้ำท่วมสูง ก็ผลิตกางเกงแก้ว...แน่นอน พลาสติกที่ห่อรถอาจทำให้รถลอยไปกับน้ำบ้าง หรือห่อแล้วอาจจะรั่วบ้างเพราะไม่ได้วิจัยผลิตภัณฑ์มาเป็นอย่างดี แต่พลาสติกก็ขายออก กางเกงแก้วก็ขายออก สรุปแล้วเราควรเอาความต้องการผู้ใช้นำ แบบตอนน้ำท่วม หรือควรเอาหลักการนำ โดยทำวิจัยก่อนกันแน่?

          กระบวนการพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ที่ฝรั่งเขาคิดกัน และเขียนไว้ในบทความเรื่อง “Knowledge-based Economy” ของ OECD ตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งเรียกแนวคิดนี้ว่า “Chain-link model of innovation” เขาบอกว่า จะพัฒนานวัฒกรรมไม่ใช่ว่าต้องเอาการวิจัยมาก่อน แล้วเอาการขายไว้สุดท้ายเหมือนกระบวนการ 1 2 3 4 (Linear model of innovation) แต่กลับกัน ที่ถูกต้องกลายเป็นว่า ก่อนจะเริ่มทำวิจัย (เบอร์ 1) หรือทำอะไรลงไป ต้องดูความต้องการของตลาด (เบอร์ 4) “ก่อน” ว่าตอนนี้ตลาดต้องการอะไร...แน่นอน การคิดว่าผู้ใช้ต้องการอะไรแล้วค่อยมาวิจัยอาจจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาในรุ่นแรกๆ ต้องมีการแก้ไขบ้าง เราถึงเห็น iPad1 iPad2 กันเป็นตัวอย่างยังไงล่ะ ถ้า iPad2 ไม่พัฒนาให้ดีกว่า iPad1 แล้วจะมีใครซื้อ iPad2 ล่ะ

          Global Innovation Index เป็นดัชนีที่ใช้วัดระดับนวัตกรรมของประเทศ จัดทำโดย The Business School for the World (INSEAD) ก็ยืนยันประเทศไทยว่าเรามีการพัฒนานวัตกรรมกลับหัวกลับหางจริงๆ ปี 2011 ที่ผ่านมา ดัชนีนี้เราอยู่ที่อันดับ 48 จาก 125 ประเทศ ไส้ในดัชนีนี้ชี้ให้เห็นประเด็นน่าสนใจได้แก่
  1. รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่เอกชนต้องพึ่งตนเอง (สภาพแวดล้อมทางการเมืองเราได้อันดับ 97 การศึกษาเราได้อันดับ 94 ส่งเสริมการวิจัยได้อันดับ 83 ในขณะที่การให้การศึกษาคนงานเราอยู่ที่ 39 การถ่ายทอดความรู้กันเองได้ที่ 33 การดูดซับความรู้กันเองได้ที่ 10 เป็นต้น)
  2. ประเทศเราคิด ประดิษฐ์ได้ แต่เอาไปใช้งานไม่ได้ (การสร้างสรรค์งานเชิงนามธรรม พวกทฤษฎีอะไรทำนองนี้ เราได้ที่ 41 ในขณะที่การนำความรู้ไปใช้ให้เกิดผลเราได้ที่ 73 เป็นต้น)

แหล่งที่มา   เว็บไซต์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...