วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

วันครูแห่งชาติ 16 มกราคม : 16 ม.ค. 2555




ความหมายของครู
ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ


ความสำคัญของครู
ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้น วันที่  6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุกๆคน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง


ประวัติ ความเป็นมาวันครู วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน 2499 สืบเนื่องจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ ปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวครู ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู


งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่ อนุชนรุ่นหลัง ทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ



ดอกไม้วันครู

คณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้มีมติกำหนดให้ ดอกกล้วยไม้เป็นดอกไม้ประจำวันครู โดยพิจารณาเห็นว่าธรรมชาติของดอกกล้วยไม้มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานจัดการศึกษา และ สภาพชีวิตของครูดังคำกลอนของ ท่านหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ว่า

กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด
การศึกษาเป็นไป ฉันนั้น
แต่ดอกออกคราวไร งามเด่น
การศึกษาปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม

นอกจากนี้กล้วยไม้เป็นพืชที่อยู่ในที่สูง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศไม่ร่วงโรยง่าย เปรียบเหมือนครูที่อยู่ทั่วแดนไทย ที่ต้องอดทนต่อสู้ เพื่ออุดมการณ์และอุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ


กลอนวันครู
          16 มกรา วันนี้วันครู ท่านเป็นผู้ให้ความรู้ตลอดมา
ครูมีแต่ความหวังดีทุกเวลา ห่วงว่าศิษย์หลงทำผิดคิดพลาดไป
คอยอบรมสอนสั่งไม่ย่อท้อ ครูยังพอยิ้มได้และสุขใจ เมื่อศิษย์ไปได้ดีดั่งหวังไว้
เหน็ดเหนื่อยเพียงไหนใจพร้อมสู้ ครูยืนอยู่เบื้องหลังเป็นกำลังใจ
ความผิดใดที่ศิษย์ได้ทำไว้ โปรดขอครูนี้จงได้ให้อภัย
ไม่ตั้งใจจริงๆ สิ่งที่ทำไป ประนตน้อมพร้อมจิตลิขิตสาร
ดำริกานท์ก้มเกศพิเศษหมาย นบบูชาพระคุณครูมิรู้วาย
ทั้งจิตกายตั้งมั่นกตัญญู พระคุณที่สั่งสอนทั้งศาสตร์ศิลป์
ให้ศิษย์สิ้นสงสัยให้ความรู้ เกิดปัญญาก้าวหน้าเพราะคำครู
ยังก้องอยู่โสตประสาทมิขาดไป ตั้งแต่เรียนเขียน ก ทั้งนับเลข
นิทานเสกสอนสั่งสร้างนิสัย ขัดเกลาจิตศิษย์อยู่ให้รู้วัย
ว่าสิ่งไหนนั้น ควร ไม่ควรทำ ในวาระวันครู หนูจะเขียน
ต่างแพเทียนธูปทองอันผ่องล้ำ สร้อยอักษรล้วนจิตพินิจจำ
                                กระแสน้ำพระคุณครูอยู่ชั่วกาล


คำสวดไหว้ครูทำนองสรภัญญะ

คาถา ปาเจราจริยา โหนฺติ คุณุตฺตรานุสาสกา (วสันตดิลกฉันท์)
ข้าขอประนมกระพุ่ม อภิวาทนาการ
 กราบคุณอดุลคุรุประทาน หิตเทิดทวีสรร
 สิ่งสมอุดมคติประพฤติ นรยึดประครองธรรม์
 ครูชี้วิถีทุษอนันต์ อนุสาสน์ประภาษสอน
 ให้เรืองและเปรื่องปริวิชาน นะตระการสถาพร
 ท่านแจ้งแสดงนิติบวร ดนุยลยุบลสาร
 โอบเอื้อและเจือคุณวิจิตร ทะนุศิษย์นิรันดร์กาล
 ไปเปื่อก็เพื่อดรุณชาญ ลุฉลาดประสาทสรรพ์
 บาปบุญก็สุนทรแถลง ธุระแจงประจักษ์ครัน
 เพื่อศิษย์สฤษฎ์คตจรัล มนเทิดผดุงธรรม
 ปวงข้าประดานิกรศิษ (ษ) ยะคิดระลึกคำ
 ด้วยสัตย์สะพัดกมลนำ อนุสรณ์เผดียงคุณ
 โปรดอวยพรสุพิธพรอเนก อดิเรกเพราะแรงบุญ
 ส่งเสริมเฉลิมพหุลสุน- ทรศิษย์เสมอเทอญฯ

 กล่าวปฏิญาณ ดังนี้
  1.  ข้าจะบำเพ็ญตนในสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
  2. ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
  3. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

สิ่งที่ต้องเตรียมในการไหว้ครู

การไหว้ครู ในอดีตนั้น มักจะใช้ หญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะเขือ และดอกเข็ม เป็นองค์ประกอบในพานดอกไม้แต่ละอย่างล้วนเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น  


หญ้าแพรก เป็นตัวแทนที่แสดงถึงความเข้มแข็ง อดทนถึงแม้จะแห้งแล้ง คนเดินเหยียบย่ำ หญ้าแพรกก็จะไม่ตาย พอได้รับโอกาสที่เหมาะสม ได้รับความชุมชื้น ก็จะแตกยอดเจริญงอกงามเป็นอย่างดี  ครูจึงต้องเป็นผู้ที่เข้มแข็งอดทนต่อปัญหาต่างๆ ของนักเรียนนักศึกษามากมาย และค่อย ๆสะท้อนปลูกฝังความมุ่งมั่นอดทน เข้มแข็งไปสู่นิสัยของนักเรียน นักศึกษา ฝึกให้เขาเข้มแข็งอดทนให้จงได้


ข้าวตอก เป็นข้าวที่เกิดจากการใช้เมล็ดข้าสารไปคั่ว โดยมีฝาครอบไว้ เมื่อได้รับความร้อนระดับหนึ่ง เมล็ดข้าวก็จะพองตัวและแตกตัวออกเป็นข้าวตอก มีกลิ่นหอม  เช่นเดียวกับการให้การศึกษา ครูผู้สอนต้องให้การอบรมคู่กันไปด้วย “อบเพื่อให้สุกรมเพื่อให้หอม” เช่นเดียวกับการทำข้าวตอก การสั่งสอนอบรมของครู บางครั้งต้องมีการว่ากล่าวตักเตือน ติติงหรือทำโทษ ในการกระทำที่ไม่เหมาะสมเสมือนการใช้ความร้อนกับเมล็ดข้าว โดยมีกฏระเบียบหรือแนวปฏิบัติ เสมือนเป็นฝาครอบ ไม่ให้ลูกศิษย์กระเด็นกระดอนออกนอกลู่นอกทาง ครูจึงต้องทำหน้าที่สั่งสอนอบรมให้นักเรียน นักสึกษาเป็นดังเช่นข้าวตอก คือ “สุกและหอม” ซึ่งหมายถึง การสั่งสอนแนะนำให้เขามีความรู้ความสามารถและเป็นคนดีที่ยอมรับนั่นเอง

ดอกมะเขือ ลักษณะของดอกมะเขือ เวลาบานจะสีขาวสะอาดและดอกจะโน้มคว่ำลงพื้นดินซึ่งก็เป็นปริศนาธรรม แสดงถึงความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตใจ เป็นคนซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ


ดอกเข็ม ลักษณะของดอกเข็มจะมียอดดอกแหลม ซึ่งเป็นปริศนาธรรมว่า ครูต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความคิด ให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนฉลาด(หัวแหลม) รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ ใช้ความคิดให้เป็นประโยชน์แก้ปัญหาต่างๆ ที่พบเห็น ความเฉียบคมทางความคิดจะทะลุทะลวงทุกปัญหาได้

คนโบราณช่างชาญฉลาดที่จะสอนศิษย์ด้วยกลวิธีต่างๆ แม้กระทั่งการใช้ดอกไม้ต้นไม้ ฯลฯ เป็นสื่อการสอนทำให้ลูกศิษย์ให้ยุคก่อนเก่าได้เรียนรู้จากธรรมชาติ และรู้จักกตัญญูรู้คุณผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์อยู่ตลอดไป และการที่เราใช้ “หญ้าแพรกดอกมะเขือ” ในการไหว้ครูนั้น เพราะเป็นของหาง่าย งอกงามอยู่ทั่วไป ตอนเช้าตรู่วันพฤหัสซึ่งเป็นวันไหว้ครู เด็กๆ จะไปโรงเรียนเช้าเป็นพิเศษ เพื่อ่ไปช่วยกันจัดพานดอกไม้ ซึ่งอาจมีการปักดอกบานไม่รู้โรย ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบบ้าน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขือ พานดอกไม้นี้เด็กนักเรียนหญิงจะเป็นคนถือ ส่วนเด็กผู้ชายจะถือธูปเทียนและช่อดอกไม้ ( ช่อดอกไม้หมายถึงดอกไม้ที่หาได้เอามารวมกัน แซมด้วยหญ้าแพรกและดอกมะเขือเช่นกัน) พิธีไหว้ครูจึงเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่นักเรียนทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันมาแสดงความเคารพและระลึกบุญคุณของครูอาจารย์อย่างแท้จริง


การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู
เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู คลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ


คำขวัญวันครู 2555
เริ่มจัดให้มีคำขวัญเกี่ยวกับงานวันครูเมื่อไม่นานมานี้เอง แรกๆ ก็เป็นคำขวัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา) ต่อมาก็เป็นคำขวัญของบุคคลทั่วไปที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งพอจะรวบรวมได้ดังนี้

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2522 - การให้การศึกษาแก่คนในชาติ เป็นกระบวนการที่ต้องทำต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต ดังนั้นจึงต้องระดมสรรพกำลังหลาย ๆ ด้านมาช่วยเหลือการศึกษา ปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ ครูซึ่งจะเป็นผู้ผลักดันให้ทุกอย่างไปสู่เป้าหมายได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายคงตระหนักถึงหน้าที่อันมีเกียรตินี้ ในโอกาสที่วันสำคัญอย่างยิ่งของครูได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าพเจ้าในนามของกระทรวงศึกษาธิการและประธานอำนวยการคุรุสภา ขอส่งความปรารถนาดีและความระลึกถึงเพื่อนครูทุกท่าน ทั้งนอกและในราชการขอจงประสบแต่ความสุขความเจริญโดยทั่วกันและขอได้โปรด ตระหนักถึงหน้าที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของครูที่ดีสืบไป เจ้าของคำขวัญ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2523 - เป็นครูต้องยึดถือคุณธรรมของครู เจ้าของคำขวัญ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2524 - ครูที่แท้ต้องทำแต่ความดี ประพฤติปฏิบัติในระเบียบแบบแผนอันสมควรกับเกียรติภูมิของตน มีความรักในลูกศิษย์และอบรมปัญญาให้ลูกศิษย์มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านวิชาการ ความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และทางด้านพลานามัย เจ้าของคำขวัญ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัตฃ

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2525 - ครูนั้น สังคมยกย่องนับถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ทั้งนี้เพราะว่าครูเป็นผู้เสียสละ ยึดมั่นในคุณงามความดี และความถูกต้อง จึงขอให้รักษาความดีนี้ตลอดไป เจ้าของคำขวัญ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ พ.ศ. 2526 - อนาคตของเด็กไทย อยู่ที่ความเอาใจใส่ของครูทุกคน เจ้าของคำขวัญ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2527 - ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ 2527 ผมขอให้เพื่อนครูที่รักทั้งหลายและสมาชิกคุรุสภาทุกท่าน ประสบความสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล สัมฤทธิ์ผลอันพึงปรารถนาตลอด เจ้าของคำขวัญนายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2528 - การที่บุคคลหนึ่งจะดำรงชีวิตได้อย่างดีนั้นมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะผู้เป็นครูมีแนวปฏิบัติที่ยากยิ่ง เป็นสิ่งน่าเห็นใจที่ครูจะต้องปฏิบัติโดยยึดถือความดีมีคุณธรรมระดับสูงกว่าบุคคลทั่วไป แต่ก็น่าภาคภูมิใจเมื่อครูผู้ปฏิบัตินั้น ได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และยอมรับจากสังคมมากขึ้น จึงขอให้เพื่อนครู ทุกท่านปฏิบัติตนด้วยความเสียสละ อดทน ยึดถือความดี มีคุณธรรมเพื่อจะบังเกิด ผลดีแก่ตนเอง ชุมชน และประเทศชาติสืบไป เจ้าของคำขวัญนายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2529 - ครูคือผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณค่าต่อการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้า และอยู่รอดปลอดภัย เจ้าของคำขวัญ นายชวน หลีกภัย

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2530 - ครูดีมีวินัย และคุณธรรม ย่อมน้อมให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี เจ้าของคำขวัญ นายมารุต บุญนาค

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2531 - ครูเป็นผู้สร้าง ครูเป็นผู้ให้ความหวัง ครูเป็นพลังให้ศิษย์เป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ นายมารุต บุญนาค

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2532 - ครูดี มีจรรยา มุ่งค้นคว้าเพื่อพัฒนาเด็กไทย เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2533 - ครูคือผู้อุทิศทั้งชีวิตและจิตใจ ส่งเสริมเพิ่มพูนให้เยาวชนเป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2534 - ครูคือผู้สร้างสรรค์ให้เยาวชนของชาติเป็นพลเมืองดี เจ้าของคำขวัญ พลเอกมานะ รัตนโกเศศ

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2535 - ครูคือ ผู้ให้ ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และผู้นำเยาวชนของชาติ เจ้าของคำขวัญ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2536 - ครูคือนักพัฒนา และรักษาสิ่งแวดล้อม เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2537 - ครูคือ ผู้มีคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2538 - อุทิศเวลา รักษาคุณธรรม ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ นายสัมพันธ์ ทองสมัคร

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2539 - ครู เป็นหัวใจของการพัฒนาคน เจ้าของคำขวัญ นายสุขวิช รังสิตพล

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2540 - ครูสร้างศิษย์ ด้วยมิตรและนำใจ ครูคือผู้ให้ เพื่อเยาวชนไทยได้พัฒนา เจ้าของคำขวัญ นายสุขวิช รังสิตพล

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2541 - ครูเป็นผู้นำทางปัญญา ชี้นำประชาธิปไตย สร้างเด็กไทยให้เป็นคนดี เจ้าของคำขวัญ นายชุมพล ศิลปอาชา

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2542 - ครูเป็นผู้เบิกทางแห่งปัญญา เจ้าของคำขวัญ นายปัญจะ เกสรทอง ครูชี้ทางสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ชนเชิดบูชาพระคุณครู เจ้าของคำขวัญ นางเซียมเกียว แซ่เล้า

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2543 - ครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เจ้าของคำขวัญ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล สร้างชาติ สร้างคน ผลงานของครู ทั่วโลกรับรู้ เชิดชูบูชา เจ้าของคำขวัญ นายประจักษ์ เสตเตมิ

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2544 - พระคุณครูยิ่งใหญ่ สร้างไทยให้พัฒนา ขอบูชาคุณครู เจ้าของคำขวัญ นางสาวสุทิสา ธนบดีไพบูลย์

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2545 - สร้างคนสร้างชาติ สร้างศาสตร์ก้าวหน้า สร้างภูมิปัญญา ขอบูชาครู เจ้าของคำขวัญ นายสุเทพ วิเศษศักดิ์ศรี

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2546 - ครูให้ความรู้ ควบคู่จรรยา ปวงชนทั่วหล้า น้อมบูชาครู เจ้าของคำขวัญ นางสมปอง สายจันทร์

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2547 - ครูคือพลังสร้างแผ่นดิน ไทยทุกถิ่นน้อมบูชาพระคุณครู เจ้าของคำขวัญ นางสาวพรทิพย์ ศุภกา

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2548 - ครูสร้างคนสร้างชาติด้วยศาสตร์ศิลป์ ทั่วแผ่นศรัทธาบุชาครู เจ้าของคำขวัญ นายประจักษ์ หัวใจเพชร

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2549 - ครูดีเป็นศรัแผ่นดิน ศิษย์ทั่วถิ่นศรัทธาบูชาครู เจ้าของคำขวัญ นางพรรณา คงสง

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2550 - สิบหกมกรา เทิดทูน พ่อแผ่นดิน ภูมินทร์บรมครู ปี เจ้าของคำขวัญ นางสาวศันสนีย์ แสนโรจน์

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2551 - ครูของแผ่นดินเลิศศิลป์ศาสตร์ มหาราชภูมิพลฯ ชนบูชา เจ้าของคำขวัญ นางพงษ์จันทร์ สุขเกษม

คำขวัญวันครู พ.ศ.2552 - ครูสร้างคนดี เป็นศรีแผ่นดิน ทั่วถิ่นศรัทธา บูชาคุณครู เจ้าของคำขวัญ นางนฤมล จันทะรัตน์

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2553 - น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที เจ้าของคำขวัญ นายกันทา วงศ์จันทร์ทิพย์

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2554 - เทิดพระเกียรติทั่วหล้า บูชาครูของแผ่นดิน ภูมินทร์ภูมิพล เจ้าของคำขวัญ นางกนกอร ภูนาสูง

คำขวัญวันครู พ.ศ. 2555 - บูชาครูแห่งแผ่นดิน จอมปราชญ์ศาสตร์ศิลป์ สยามินทร์ ภูมิพล เจ้าของคำขวัญ นางสาวขนิษฐา อุตรโส



รายชื่อประเทศที่มีวันครู


ประเทศที่มีวันครูที่ไม่ใช่วันหยุด
  • อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
  • มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม
  • ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน

ประเทศที่มีวันครูเป็นวันหยุด
  • แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม
  • จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน
  • สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
  • อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
  • ละตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน
  • โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม
  • รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม
  • สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน
  • สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
  • เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม
  • ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน
  • ไทย วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคม
  • สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วันในเดือนพฤษภาคม
  • เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน

แหล่งที่มา  เว็บไซต์สนุกดอทคอมเว็บไซต์ moopalo.com,    เว็บไซต์ MTHAI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...