วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ... คุณค่าคู่ท้องนทีไทย

ใครอยากดูเรือในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค  ที่เคยลอยเด่นเป็นสง่ากลางลำน้ำเจ้าพระยา สามารถหาดูได้ที่ "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธีอยู่ตรงเชิงสะพานอรุณอมรินทร์ หรือ บริเวณปากคลองบางกอกน้อยนี่เอง

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เดิมเป็นเพียงอู่เก็บเรือพระราชพิธี เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อู่เรือและเรือพระราชพิธีแห่งนี้ บางส่วนก็ถูกลูกระเบิดเสียหายไปบ้าง แต่หลังจากนั้นเรืออันล้ำค่าเหล่านี้ก็ถูกซ่อมแซมและดูแลรักษาอย่างดี โดยในปี 2517 กรมศิลปากรได้ขอขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่างๆ ให้เป็นมรดกของชาติ

ภายในจัดแสดงเรือพระราชพิธีสำคัญ 8 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือครุฑเหินเห็จ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ และเรือเอกไชยเหินหาว

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งโปรดให้สร้างแทนลำเดิมมีนามว่า ศรีสุพรรณหงส์ ซึ่งสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โขนเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก พื้นเรือสีดำน้ำหนัก 15.6 ตัน กว้าง 3.15 เมตร ยาว 44.70 เมตร ลึก 0.90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร ฝีพาย 50 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 2 นาย พายที่ใช้เป็นพายทอง พลพายจะพายในท่านกบิน และถือเป็นธรรมเนียมว่าถ้าจะเปลี่ยนท่าพายธรรมดาจะต้องรับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำปัจจุบันเป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แทนลำเดิมซึ่งสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โขนเรือปิดทองประดับกระจก เป็นรูปพญานาค 7 เศียร พื้นเรือ สีเขียว น้ำหนัก 15.36 ตัน กว้าง 2.95 เมตร ยาว 42.95 เมตร ลึก 0.76 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร ฝีพาย 54 นาย นายท้าย 2 นาย


เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หัวเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก พื้นเรือสีชมพู น้ำหนัก 7.7 ตัน กว้าง 3.15 เมตร ยาว 45.40 เมตร ลึก 1.11 เมตร กินน้ำลึก 1.46 เมตร ฝีพาย 61 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย



เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งจัดสร้างขึ้นใหม่ ในรัชกาลปัจจุบัน มีโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งนำต้นแบบมาจากเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ลำเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4
     เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 นี้ กองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ได้ดำเนินการจัดสร้าง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน วโรกาสพระราชพิธีในปีกาญจนาภิเษก มีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญา เทียบเท่า เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พื้นเรือสีแดงชาด น้ำหนัก 20 ตัน กว้าง 3.20 เมตร ยาว 44.30 เมตร ลึก 1.10 เมตร ฝีพายจำนวน 50 นาย นายท้าย 2 นาย (เพื่อให้สอดคล้องกับ วโรกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)

เรือครุฑเหินเห็จ
เรือครุฑเหินเห็จ
โขนเรือเป็นรูปครุฑ เป็นเรือประกอบขบวนในงานพระราชพิธี ไม่พบหลักฐานที่สร้าง ซึ่งเรือลำนี้ ถูกระเบิดได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2487 พร้อมกับ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร และ เรือเอกไชยเหินหาว ต่อมากรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ.2491 หลังจากนั้น จึงนำโขนเรือเดิมมาทำขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2511 โดยใช้หัวเรือเดิมนำมาบูรณะ ส่วนท้ายเรือทำใหม่ ได้รับการบูรณะเป็นระยะๆ และได้ใช้ในงานพระราชพิธี จนกระทั่งปัจจุบัน



เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
โขนเรือสลักรูปขุนกระบี่ ปิดทองประดับกระจก ไม่พบหลักฐานที่สร้าง ซึ่งเรือลำนี้ถูกระเบิด ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2487 พร้อมกับ เรือครุฑเหินเห็จ และ เรือเอกไชยเหินหาว ต่อมากรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ.2491 หลังจากนั้น จึงนำโขนเรือและท้ายเรือเดิม มาทำเป็นเรือขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2510 ได้รับการบูรณะเป็นระยะๆ และได้ใช้ในงานพระราชพิธี จนกระทั่งปัจจุบัน
นอกจากนั้น ยังมีสิ่งของเครื่องใช้ในพระราชพิธีต่างๆ จัดแสดงด้วย อาทิ บังลังก์บุษบก บังลังก์กัญญา พายชนิดต่างๆ และเครื่องแต่งกายของเหล่าฝีพาย เป็นต้น


เรืออสุรวายุภักษ์
เรืออสุรวายุภักษ์
โขนเรือสลักเป็นรูปยักษ์กลายเป็นนกสีคราม ปิดทองประดับกระจก เป็นเรือในหมวดรูปสัตว์ต่างๆ ได้รับการบูรณะอยู่เป็นครั้งคราว และมีการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2524 เพื่อใช้ในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2525 ปัจจุบัน เป็นเรือหนึ่งในหมู่กระบวนเรือพระที่นั่งในงานพระราชพิธีต่างๆ




เรือเอกไชยเหินหาว
เรือเอกไชยเหินหาว
โขนเรือเขียนลวดลายเป็นรูปจระเข้หรือเหรา(อ่านว่า เห - รา) ไม่พบหลักฐานที่สร้าง เรือลำนี้ได้ถูกระเบิดเสียหายในสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2487 พร้อมกับ เรือครุฑเหินเห็จ และ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร ต่อมากรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี 2491 หลังจากนั้น ทำการตกแต่งบูรณะตัวเรือใหม่เมื่อปี พ.ศ.2508 และมีการบูรณะครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2524 เพื่อใช้ในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2525 ปัจจุบัน เรือเอกไชยเหินหาว เป็นหนึ่งในกระบวนเรือพระที่นั่งในงานพระราชพิธีต่างๆ

ที่นี่เขาเปิดให้ชมเรือโบราณมรดกชาติทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง ห้าโมงเย็น

แหล่งที่มา   นสพ. M2F วันพุธที่ 11 ม.ค. 55 (062),  เว็บไซต์ school.obec.go.thเว็บไซต์กระปุกดอทคอม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...