วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

ท่องภูฏาน...ตามรอยพระทันตธาตุ 'พระกัสสปพุทธเจ้า'

ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2554 เป็นต้นมาจนถึงพุทธศักราชใหม่ 2555 เชื่อว่าหลายคนคงได้ไปกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุ ส่วน “พระทันตธาตุ” หรือ “พระเขี้ยวแก้ว” ของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ซึ่งรัฐบาลไทย โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญจากราชอาณาจักรภูฏานมาประดิษฐานชั่วคราวยังประเทศไทย ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเปิดให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลหลังจากที่ต้องประสบกับปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระบรมสารีริกธาตุองค์ดังกล่าวได้ถูกอัญเชิญออกนอกประเทศภูฏานเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่ได้ครอบครองมาเป็นเวลานาน

เวลานี้พระทันตธาตุยังคงประดิษฐานชั่วคราวในประเทศไทย โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะอัญเชิญไปให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วทุกภาคได้กราบไหว้อย่างเต็มที่จนถึงวันที่ 17 ก.พ. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายและเป็นวันอัญเชิญกลับประเทศภูฏาน

ทาชิโชซอง...สถานที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ
พระทันตธาตุองค์นี้ ทางภูฏานระบุว่า ไม่ใช่พระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า “โคดม” องค์ปัจจุบัน แต่เป็นของพระพุทธเจ้า “กัสสปะ” ที่เสด็จอุบัติขึ้นก่อนหน้าพระพุทธเจ้าโคดม และประกอบกับไม่เคยอัญเชิญออกนอกประเทศภูฏานมาก่อน ก็ยิ่งทำให้เกิดการ “ใคร่ศึกษาอยากรู้” รัฐบาลโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงได้ประสานนำสื่อมวลชนไทยตามรอยพระทันตธาตุถึงภูฏาน

และจากการร่วมเดินทางไปยัง “ทาชิโชซอง” ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระทันตธาตุประดิษฐานอยู่ในพระราชวังของสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ก็ได้รับการเปิดเผยจาก ดอร์จี ทีเชอริง เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงวัฒนธรรมแห่งภูฏาน ว่า พระบรมสารีริกธาตุองค์นี้เป็นส่วนพระทันตธาตุของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า (ทว่าไม่ได้ระบุว่าเป็นพระทันตธาตุส่วนไหนบน ล่าง ซ้าย ขวา) มีอายุราว 3,000 ปี

เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนดังกล่าวเปิดเผยถึงการได้มาซึ่งพระทันตธาตุว่า เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8 ได้มีพระลามะรูปหนึ่งเดินทางลี้ภัยมาจากประเทศอินเดียเข้ามาในดินแดนของภูฏานและได้นำพระทันตธาตุมาด้วยโดยมีหลักฐานบันทึกว่าเป็นพระทันตธาตุของพระกัสสปพุทธเจ้า

“ทาชิโชซอง” หรือ “ตาชิโชซอง” ตั้งอยู่ที่เมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน เป็นป้อมปราการที่มีความงดงาม ประกอบด้วยกลุ่มอาคารหลายหลัง เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการปกครอง หน่วยงานราชการต่างๆ สถานที่ประชุมรัฐสภา พระราชวังอันเป็นสถานที่ทรงงานของกษัตริย์ รวมถึงเป็นศูนย์กลางของศาสนจักร ซึ่งประกอบด้วยวิหารหลวงและอื่นๆ เป็นที่ประทับของพระสังฆราชและคณะสงฆ์ในฤดูร้อน

สำหรับวิหารหลวงในซองแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ที่ผ่านมาก็ทำในวิหารหลวงแห่งนี้

เรียกว่าซองนี้มีทั้งส่วนที่เป็นวัดและวัง ถ้านึกภาพให้เห็นง่ายๆ ก็คล้ายกับพระบรมมหาราชวังของไทย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นวัด เป็นวัง และมีหน่วยงานราชการบางส่วนตั้งอยู่ เพียงแต่ในพระบรมมหาราชวังของไทยจะไม่มีพระภิกษุจำพรรษาเท่านั้น อย่างไรก็ตามทาชิโชซองปกติไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าไปเยี่ยมชม แต่จะอนุญาตให้เข้าชมได้เฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น
วัดตั๊กซัง หรือวัดรังเสือ

สถานที่ที่มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญของภูฏานนั้นมีหลายแห่ง แต่มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ครั้งหนึ่งในชีวิตของคนภูฏานจะต้องไปให้ได้ ก็คือ วัดตั๊กซัง (Taktsang) ตั้งอยู่บนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร อยู่ที่เมืองพาโร

วัดแห่งนี้ ฉับดรุง งาวัง นัมเกล ผู้รวบรวมและก่อตั้งอาณาจักรภูฏานได้มีดำริสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง “คุรุลินโปเช” ผู้ที่นำพระพุทธศาสนานิกายตันตระเข้ามาเผยแผ่ในดินแดนภูฏาน ซึ่งเป็นผู้ที่ประชาชนภูฏานนับถือศรัทธามาก

ตามตำนานเล่าว่า สถานที่ตั้งของวัดเป็นสถานที่ที่คุรุลินโปเชซึ่งชาวภูฏานเชื่อว่าเป็นผู้ที่มีอานุภาพมีฤทธิ์สามารถแปลงกายเป็นรูปต่างๆ ได้ ได้แปลงกายเป็นครุฑขี่หลังเสือมายืนบนที่แห่งนี้ พร้อมกับการนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม

ว่าแต่ใครที่จะขึ้นไปกราบไหว้คุรุลินโปเชถึงวัดตั๊กซังขอบอกว่าต้องร่างกายแข็งแรง มีความอดทน ไม่ท้อจึงจะไปถึง ส่วนคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคหอบ หลีกเลี่ยงได้เป็นดีที่สุด เพราะระยะทางขึ้นเขาไปที่วัดราว 3 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม การขึ้นไปมี 2 วิธีให้เลือก หนึ่งเดินขึ้นเอง สองนั่งม้าขึ้น แต่ม้าจะส่งแค่ประมาณครึ่งทางเท่านั้น จากนั้นต้องลงเดินเท้าต่อไป กระนั้นก็ตามคนที่เป็นโรคหัวใจหรือเป็นโรคหอบก็ไม่ควรจะเสี่ยงอยู่ดี

แหล่งที่มา  เว็บไซต์โพสทูเดย์ 8 มกราคม 2555 เวลา 09:11 น. ย...วรธาร ทัดแก้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ตอน 37 ลาก่อนทองแดง

ตอน 36   อ่านตอนสามสิบหก เรื่อง "ลาก่อนพ่อสิงโต...พ่อหมาใจดี...." ได้ที่นี่ ทองแดงเริ่มไม่ทานข้าวช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 ช่วงนั...